เมื่อโลกมุ่งหน้าเข้าสู่วิกฤตโลกร้อน หลายแบรนด์ หลายธุรกิจก็เริ่มมีการดำเนินงานตามหลัก ESG เพื่อช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมและช่วยเหลือสังคมมากยิ่งขึ้น ซึ่งการกระทำหนึ่งที่ทุกธุรกิจหันมาใส่ใจมากขึ้นก็คือการ ‘ลดขยะ’
แล้วเชื่อไหมว่าขยะกำพร้าอย่าง ‘ฝาขวดพลาสติก ทับเพอร์แวร์ และช้อนซ้อมพลาสติก’ ที่ไม่มีใครต้องการสามารถนำมาสร้างมูลค่ามากกว่า 3 แสนบาทจากการ ‘Recycle และ Reuse’
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อเพราะ “PIPATCHARA” แบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทยทำได้แล้ว!
เริ่มต้นจากเป้าหมาย Fashion for Community
แบรนด์ PIPATCHARA เกิดขึ้นเมื่อปี 2018 จากการที่เพชร-ภิพัชรา แก้วจินดา ดีไซเนอร์สาวที่มีประสบการณ์ในวงการแฟชั่นหลายปีในปารีส ได้ชวนพี่สาว ทับทิม-จิตริณี แก้วจินดา ที่ทำงานด้าน Sustainable มาร่วมกันทำแบรนด์แฟชั่นหนังด้วยกัน
แต่ไม่ใช่แฟชั่นหนังทั่วไป ต้องเป็นแบรนด์ Fashion for Community ที่สามารถช่วยสังคมในแง่ใดแง่หนึ่ง ด้วยความที่เพชรหลงใหลในงานหนัง แต่ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ไม่เหมาะกับเสื้อผ้าหนัง จึงได้แรงบันดาลใจในการเริ่มทำกระเป๋าที่ผสมผสานกับหัตถกรรม “แมคคราเม่” (Macramé) ซึ่งเป็นการถักเชือกด้วยลวดลายต่างๆ
โดยเพชรและทับทิมได้เข้าไปศึกษาและเรียนรู้งานหัตถกรรมของคนในชุมชนแม่ฮ่องสอนและเชียงราย แรกเริ่มได้ชาวบ้านในชุมชนกว่า 30 คนมาเป็นส่วนหนึ่งในการถักเชือกแบบแมคคราเม่ ซึ่งปัจจุบัน PIPATCHARA ได้ช่วยสร้างรายได้ให้ 5 ชุมชน โดยมีชาวบ้านที่ร่วมงานด้วยกว่า 80 คน
เปลี่ยนขยะกำพร้าเป็น Infinitude Collection
หลังจากที่กระเป๋าหนังงานถักแมคคราเม่ได้รับผลตอบรับที่ดีจากการที่ นักแสดงสาว Anne Hathaway เลือกถือไปเดินพรมแดงสนับสนุนกลุ่ม Transgender ในงาน SXSW ทาง PIPATCHARA ก็เริ่มก้าวเข้ามาจับในเรื่องของความยั่งยืนมากขึ้นโดยมุ่งเน้นในด้านการช่วยลดขยะกำพร้า
คอลเลคชั่นนี้ใช้ขยะกำพร้าเช่น ฝาขวดน้ำ กล่องใส่อาหาร ช้อน ส้อม และขวดขุ่น ซึ่งเป็นขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีกระบวนการกำจัดที่เป็นระบบด้วย จึงมักจะโดนฝังกลบเป็นซากขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ โดยมีการเก็บวัสดุเหล่านี้มาทำความสะอาด บดให้ละเอียด ละลายและปั๊มเป็นรูปทรงที่ได้แรงบันดาลใจมาจากท้องทะเล ปะการัง และหิน ตัวแทนของแนวคิด redone, re-produce และ recycle
สีของรูปทรงที่เราเห็นทั้งหมดล้วนมาจากขยะกำพร้าล้วนๆ ไม่มีการผสมสี อย่างสีเหลืองจากฝาขวดชา Lipton และกล่องพลาสติกใส, สีชมพูจากขวดนมเปรี้ยว Yakult, สีขาวจากฝาขวดน้ำดื่ม ช้อน ส้อม และกล่องพลาสติกใส, สีดำจากกล่องใส่อาหารเซเว่น, สีม่วงจากฝาขวดน้ำดื่มสิงห์ x Disney และกล่องพลาสติกใส, สีเขียวอ่อนจากฝาขวดน้ำอัดลม 7UP และกล่องพลาสติกใส, สีเขียวเข้มจากฝาขวดน้ำดื่มคาราบาว และกล่องพลาสติกใส, สีเงินจากฝาขวดน้ำดื่ม Minéré และสีทองจากฝาขวดน้ำหลายๆ ยี่ห้อ
คอลเลคชั่น Infinitude ไม่ได้มีเพียงแค่กระเป๋าเท่านั้น แต่ยังถูกดัดแปลงเป็นกำไลที่ลูกค้าสามารถเลือกได้เองว่าอยากได้ Infinitude สีอะไรซึ่งฮิตในโซเชียลแบบสุดๆ นอกจากนี้ยังดัดแปลงเป็นชุดที่บางตัวมีมูลค่ามากถึง 3 แสนบาทเลยทีเดียว ซึ่งปัจจุบัน PIPATCHARA มีการส่งออกไปต่างประเทศถึง 8 ประเทศ และเป็นแบรนด์ที่บุกเบิกการนำขยะกำพร้าประเภทพลาสติกมารีไซเคิลเป็นสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ที่สามารถใช้งานได้จริง โดยคอลเลคชั่นนี้สามารถลดขยะไปได้กว่า 1 ล้านชิ้น
Scale’s Takeaways
1. เริ่มจากสิ่งที่ชอบ
PIPATCHARA เกิดขึ้นมาจากความชอบส่วนตัวของเพชร ในเรื่องกระเป๋าหนัง อีกทั้งความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมของทับทิม เมื่อทั้งสองสิ่งถูกหล่อหลอมรวมกันทำให้เกิดขึ้นมาเป็นแบรนด์แฟชั่นที่ให้ความสำคัญกับด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการช่วยเหลือชุมชน มากพอๆ กับการใส่ใจเรื่องรายได้ของธุรกิจ
2. ตั้งเป้าหมายให้เล็กแต่ต้องทำให้ดี
บางคนอาจจะคิดว่าการมีเป้าหมายที่ใหญ่เป็นจุดที่ทำให้เราฮึดสู้ทำให้มันกลายเป็นจริงได้ในที่สุด แต่สำหรับเพชรมองว่าการมีเป้าหมายเพียงแค่เล็กๆ นั้นก็เพียงพอแล้วกับการที่จะทำให้ธุรกิจค่อยๆ เติบโตไปเรื่อยๆ บางสิ่งที่เกิดขึ้นกับ PIPATCHARA ก็เป็นสิ่งที่เธอเองก็ไม่ได้คาดหวังด้วยซ้ำ แต่จุดสำคัญก็คือการทำเป้าหมายเล็กๆ นั้นออกมาให้ดีมากพอในทุกๆ วัน
3. ยอมทำในสิ่งที่ไม่อยากทำเพื่อให้ธุรกิจก้าวต่อไป
ในการทำธุรกิจเป็นเรื่องยากที่เราจะได้ทำแค่ในสิ่งที่เราชอบ เพชรเล่าว่าตัวเธอเองมีความหลงใหลในด้านศิลปะและแฟชั่นมากกว่าด้านธุรกิจ แต่ใน 1 ปีมีเพียงแค่ไม่กี่วันที่เธอจะได้ใช้เวลาในการดื่มด่ำกับความชอบเหล่านั้น เวลาที่เหลือเธอต้องหันไปโฟกัสเรื่องธุรกิจซึ่งเป็นสิ่งที่เธอเองไม่ได้เรียนจบมาโดยตรงทำให้เจออุปสรรคมากมาย แต่สุดท้ายก็ต้องทำเพื่อให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้
สรุป
ขยะกำพร้าที่ไร้ค่าสำหรับหลายคนกลับกลายเป็นจุดเด่นของ PIPATCHARA ที่ทำให้คนรักโลกหันมาอยากสนับสนุนแบรนด์ไทยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยให้โลกเป็นพื้นที่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม
อ้างอิง