“มิยะโมะโตะ มุซาชิ” เขาคือตำนานนักดาบไร้พ่ายของประเทศญี่ปุ่น ผู้ที่ส่งต่อภูมิปัญญาแห่งการต่อสู้และการเข้าใจตัวเองในสถานการณ์ต่างๆ หากเล่าให้เห็นภาพเขาเปรียบเหมือนข้งจื๊อของประเทศญี่ปุ่นก็ว่าได้
ประสบการณ์บนวิถีแห่งการต่อสู้ของเขาถูกจารึกและเผยแพร่ไปทั่วโลกในหนังสือ THE BOOK OF FIVE RINGS (คัมภีร์ 5 ห่วง) ที่อธิบายการเข้าใจตัวเองและการต่อสู้ด้วยการเปรียบเทียบกับธาตุทั้ง 5 ได้แก่ ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ และ สุญตา (ความว่างเปล่า)
แต่ที่น่าสนใจก็คือวิถีทั้ง 5 ธาตุนี้สามารถนำมาปรับใช้ได้กับหลายๆ เรื่องในชีวิตรวมไปถึงเรื่องของ “ธุรกิจ” ด้วย วันนี้เราจะมาเล่าความหมายของวิถีทั้ง 5 นี้ และวิธีการนำมาปรับใช้กับการทำธุรกิจ เชื่อว่าสิ่งที่เราได้นำมาเปรียบเทียบนี้จะทำให้เพื่อนๆ ที่ทำธุรกิจได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอนลองมาอ่านกันดูครับ
คัมภีร์แห่งดิน: พื้นฐานที่มั่นคงคือการเข้าใจจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเอง
ในการต่อสู้หรือการแข่งขันสิ่งสำคัญก่อนที่จะไปคิดถึงเรื่องอื่นคือ “พื้นฐาน” โดยต้องเข้าใจถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเอง อะไรที่เป็นจุดแข็งให้พัฒนาและนำมาใช้ อะไรที่เป็นจุดอ่อนให้แก้ไขและไม่ให้ศัตรูรับรู้ได้
วิธีปรับใช้กับการทำธุรกิจ
เช่นเดียวกับธุรกิจที่เป็นการแข่งขันอีกรูปแบบหนึ่ง การที่จะทำธุรกิจอะไรเราจะต้องรู้เอกลักษณ์หรือจุดแข็งของธุรกิจตัวเอง จากนั้นก็ผลักดันด้วยกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมสิ่งนั้นให้ได้มากที่สุด เพราะนั่นคือสิ่งที่เราจะมั่นใจและสามารถสร้างความแตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ ในแวดวงเดียวกันได้
กลับกันส่วนไหนที่ธุรกิจของเรายังอ่อนอยู่ อะไรคือ Pain Point ที่เรายังมีอยู่ ให้เราหาสิ่งนั้นให้เจอและทำการแก้ไขหรือถ้าจะให้ดีให้พัฒนาจุดอ่อนนั้นจนกลายเป็นจุดแข็ง สร้างความสมบูรณ์แบบให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
หากสามารถรับรู้ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจได้ชัดเจน เมื่อนั้นจะทำให้ธุรกิจของเรามี Branding ของตัวเองที่มั่นคงจนใครก็ไม่อาจเลียนแบบได้ เมื่อรากฐานแข็งแรงก็จะสามารถชิงความได้เปรียบของตลาดได้ในระยะยาว
คัมภีร์แห่งน้ำ: ความยืดหยุ่นและการปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
ในการต่อสู้หรือการแข่งขันมักจะมีสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเสมอ สิ่งสำคัญคือการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เหล่านั้นราวกับสายน้ำที่ไหลผ่านไปได้ทุกที่แม้จะมีสิ่งกีดขวางอะไรก็ตาม
วิธีปรับใช้กับการทำธุรกิจ
ในโลกของธุรกิจ การตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคคือเป้าหมายหลักที่ต้องทำ ในยุคสมัยที่มีสื่อและความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดแบบนี้ หากยังทำธุรกิจด้วยการยึดติดกับกระบวนการเดิมๆ อยู่ ดูจะเป็นข้อเสียเปรียบที่อาจทำให้ธุรกิจของคุณตามยุคสมัยไม่ทันก็ได้
สิ่งสำคัญคือการตามความต้องการที่เกิดขึ้นให้ทันและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำการตลาดที่เข้ากับยุคสมัย อ่านความต้องการในแต่ละช่วงของสังคมและตลาดให้ออกและปรับตัวให้เข้ากับความต้องการเหล่านั้นโดยที่ยังคงยึดเอกลักษณ์ที่ยังเป็นจุดแข็งของเราเอาไว้
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่าง McDonald’s เจ้าพ่อแห่งการใช้ Seasonal Marketing พวกเขามักจะมีการออกแคมเปญและเมนูพิเศษมาเสิร์ฟให้กับลูกค้าอยู่ตลอดอย่างชุด Happy Meal ล่าสุด ที่มีการแถมตุ๊กตาสุดแรร์ที่ตอบสนองความชอบของผู้คนในแวดวงของสะสมได้เป็นอย่างดี
แต่สุดท้ายผู้คนก็ยังจดจำแบรนด์ McDonald’s ในรูปแบบปกติได้ดีแม้จะไม่มีกระแสอะไรก็ตาม นี่คือตัวอย่างการปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์เป็นการใช้รูปแบบวิถีของคัมภีร์น้ำในการทำธุรกิจที่น่าเอาเป็นแบบอย่าง
คัมภีร์แห่งไฟ: จัดลำดับความสำคัญรอจังหวะที่เหมาะสม
ในบทนี้มุซาชิเน้นไปที่วิธีการต่อสู้ เขาให้ความสำคัญกับจังหวะที่เหมาะสมในการต่อสู้ให้ได้เปรียบ บางครั้งเราต้องเจอคู่ต่อสู้ที่มีศักยภาพมากกว่าสิ่งที่จะทำให้เราชนะได้คือ “จังหวะ”
เหมือนตอนที่เขาได้ประลองกับคู่ปรับอย่าง “ซาซากิ โคจิโร่” การที่เขามาสายจนทำให้โคจิโร่หงุดหงิดอาจเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ แต่เหตุผลเบื้องหลังของการมาสายคือการรอเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนตัวจนในจังหวะที่แสงอาทิตย์ปะทะกับดาบจนทำให้โคจิโร่แสบตา ตอนนั้นคือจังหวะที่เขารอและทำการเผด็จศึกคู่ต่อสู้ในที่สุด
จริงๆ แล้ววิถีนี้ไม่ใช่แค่ใช้กับคู่ต่อสู้ที่มีศักยภาพมากกว่าเท่านั้น หากไม่ว่าเราทำอะไรทุกอย่างมีจังหวะของมันเสมอ จงทำเต็มที่ในสิ่งนั้นและเชื่อมั่นในจังหวะที่เป็นของเรา
วิธีปรับใช้กับการทำธุรกิจ
ในการทำธุรกิจมีหลายปัจจัยที่เราต้องคำนึงคือสินค้าและการบริการ แต่ละอย่างก็มีความต้องการในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไม่ใช่ว่าเราจะสามารถทุ่มเททำการตลาดได้ตลอดเวลา ยกตัวอย่างในฤดูฝนครีมกันแดดก็คงไม่ใช่สินค้าที่ขายดีอันดับหนึ่งใช่ไหม
สิ่งที่ควรทำก็คือการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำในธุรกิจอะไรที่ควรทำก่อนหรือหลัง วางแผนงานให้ตรงกับข้อมูลอย่างเหมาะสมเมื่อจังหวะที่คู่ควรมาถึงเราจะพร้อมในการเผด็จศึกอย่างมีประสิทธิภาพในโลกธุรกิจนั่นเอง
คัมภีร์แห่งลม: เข้าใจตัวเองแล้วต้องเข้าใจคู่ต่อสู้ด้วย
ในบทนี้มุซาชิได้กล่าวถึงการเข้าใจตัวเองและคู่ต่อสู้บางเวลาก็ต่อสู้อย่างดุดันบางเวลาก็ต้องศึกษาแนวคิดของคู่ต่อสู้เอาไว้หรือบางเวลาก็ควรที่จะผูกมิตรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
เปรียบเหมือนกับสายลมที่เป็นอิสระไม่ยึดติดกับแนวคิดของตัวเอง แต่ยังนำแนวคิดของผู้ที่อาจจะเป็นศัตรูมาปรับใช้ได้อย่างกลมกลืนนั่นเอง
วิธีปรับใช้กับการทำธุรกิจ
ในบางครั้งเราได้ศึกษาเกี่ยวกับทั้งตลาดและธุรกิจของตัวเองจนเชี่ยวชาญแล้ว สิ่งต่อไปที่เราควรศึกษาก็คือ “มุมมองของคู่แข่ง” ในมุมมองตรงกันข้ามที่อยู่ในแวดวงเดียวกันเราจะพบข้อจำกัดบางอย่างที่เรามองข้ามเสมอ มันคือสิ่งที่เราไม่อาจเห็นได้หากเรายังมี EGO ในเชิงการแข่งขัน
ในบางครั้งคู่แข่งก็มีสิ่งที่เราไม่มี กลับกันเราอาจมีสิ่งที่คู่แข่งไม่มีหากนำมาผสานเข้าหากันก็จะได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย การมองหาแง่คิดที่ดีจากคู่แข่งจะทำให้เรามีมุมมองทางธุรกิจที่กว้างขึ้นจนทำให้เกิดโอกาสในการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนได้อีกด้วย
คัมภีร์สุญตา (ความว่างเปล่า): จงทำตัวเองให้ว่างเปล่าเพื่อเปิดรับสิ่งใหม่
บทนี้มุซาชิกล่าวถึงความว่างเปล่าที่ว่า เมื่อเราศึกษาหาความรู้ไม่ว่าจะเป็นทักษะการต่อสู้หรือกลยุทธ์ต่างๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งให้เราลืมมันให้หมดเพื่อเป็นการสัมผัสถึงสิ่งที่ดวงตาไม่อาจมองเห็น
หากจะให้ตีความก็คือการที่เราสร้างตัวตนมาทั้งหมดบางทีอาจจะทำให้เรายึดติดอยู่กับสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจนไม่อาจเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้ เราจึงต้องทำตัวเองให้ว่างเปล่าเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
วิธีปรับใช้กับการทำธุรกิจ
หลายๆ ธุรกิจมีการใช้กลยุทธ์บางอย่างที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีและยึดเอากลยุทธ์นั้นเป็นหลัก แต่ในจุดหนึ่งเราอาจจะหลงใหลไปกับความสำเร็จเหล่านั้นจนสร้างกำแพงการรับรู้กลยุทธ์ใหม่ๆ หรือแนวทางการปรับตัวใหม่ๆ ที่อาจทำให้ธุรกิจเติบโตกว่าเดิม
การปรับใช้สุญตาในโลกธุรกิจอาจจะต่างจากการต่อสู้ของมุซาชิ หากเรามีกลยุทธ์หรือวิธีการใดที่เราทำได้ดีเราควรที่จะทำมันต่อไป แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่ยึดติดกับวิธีการเหล่านั้นไปตลอดแต่ทำตัวเองให้ว่างเปล่าเพื่อหากลยุทธ์ใหม่ๆ ที่มาผสานจนเกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่าได้
หากทำได้ดังนี้ธุรกิจของเราก็จะมีความมั่นคงจากกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพและมีการเติบโตจากกลยุทธ์ใหม่ๆ จนสุดท้ายธุรกิจของเราก็จะมีความสมดุลและยืนระยะได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง
Scale’s Takeaways
1. พัฒนาจุดแข็งและแก้ไขจุดอ่อนของตัวเอง
แนวคิดนี้ไม่ได้ใช้แค่การต่อสู้หรือการทำธุรกิจเท่านั้นเป็นการพัฒนาตัวเองแบบง่ายที่สุดที่ควรจะทำ การที่เรารู้ว่าตัวเองมีจุดแข็งและจุดอ่อนตรงไหนแล้ว Action เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในการใช้ชีวิตนั้นคือการพัฒนาตัวเองที่มีประสิทธิภาพมากๆ
2. ปรับตัวให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์
การปรับตัวถ้าพูดก็เหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วการปรับตัวเนี่ยแหละเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เพราะด้วยอัตลักษณ์ของผู้คนในยุคนี้ที่มีความเป็นตัวเองสูง การปรับตัวดูจะเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ไม่น้อย
แม้แต่ในแวดวงธุรกิจหากธุรกิจไหนที่มีความเป็นตัวเองสูงเกินไปและไม่รู้จักปรับตัวให้เหมาะสม ก็จะโดนยุคสมัยกลืนกินไปในที่สุด ซึ่งหากเราต้องการจะให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้ในระยะเวลาที่นานแนวคิดข้อนี้คือสิ่งสำคัญมากๆ
3. จงเชื่อในจังหวะ
หลายคนคงคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า “จงเชื่อในจังหวะชีวิต” บทเรียนจากมุซาชิชี้ให้เห็นแล้วว่าแนวคิดนี้ไม่ได้เพิ่งมามีในยุคนี้แต่มีมาแสนนานแล้ว และการที่บุคคลในตำนานหยิบยกเรื่องนี้มาเล่าเป็นภูมิปัญญาขนาดนี้ก็เป็นการการันตีที่เพียงพอให้เราเชื่อแล้ว
เพื่อนๆ หลายคนอาจกำลังเหนื่อยล้ากับความฝันหรือสิ่งที่ทำอยู่ เราขอให้ประโยคนี้เป็นสิ่งที่เตือนใจและเติมเชื้อไฟในการมุ่งมั่นสู่ความฝันนั้นถ้าหากเรายังคงเชื่อมั่นเชื่อเถอะว่าจังหวะชีวิตของเราจะต้องมาถึงแน่นอน
สรุป
นอกเหนือจากการเปรียบเทียบกับการทำธุรกิจแล้วคัมภีร์ 5 ห่วงของปรมาจารย์ “มิยะโมะโตะ มุซาชิ” ยังคงนำไปปรับใช้ได้กับส่วนอื่นของชีวิต ทุกภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาล้วนผ่านการทดลองและตกผลึกในบริบทของแต่ละยุคสมัยทั้งนั้น
แต่สิ่งสำคัญที่คำสอนเหล่านี้ยังคงเชื่อมโยงอดีตกับอนาคตมาไว้ด้วยกันได้เสมอก็คือ “การเข้าใจตนเอง” สุดท้ายแล้วการเข้าใจตัวเองดูจะเป็นเรื่องที่ง่ายแต่เอาเข้าจริงเรื่องของตัวเองเนี่ยแหละที่เข้าใจยากที่สุด
จงเข้าใจตัวเองและมุ่งไปในเส้นทางที่ทำให้ตัวเองมีความสุข ไม่ว่าจะการทำธุรกิจหรือการดำเนินชีวิตก็ตาม
อ้างอิง
- (หนังสือ) THE BOOK OF FIVE RINGS คัมภีร์ห้าห่วง
- (หนังสือ) มิยะโมะโตะ มุซาชิ ดาบพเนจรไร้พ่าย
- https://www.octavianpilati.com/blog/what-i-learned-from-miyamoto-musashis-book-of-5-rings