4 กุญแจปลดล็อคเข้าสู่ Flow State สภาวะเทพเจ้าที่ไม่ว่าทำอะไรก็สำเร็จ

FeatureIMG Flow State 41 min

เคยไหมในบางวันและบางช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่าทำอะไรก็ดีไปหมด งานที่แสนยากก็สามารถเคลียร์ได้ง่ายๆ จนน่าประหลาย งานเยอะแค่ไหนก็จัดการได้เสร็จภายในพริบตา รู้สึกว่าจะทำอะไรทุกอย่างก็ดูจะเป็นใจไปซะหมด

ถ้าใครเคยรู้สึกแบบนี้แสดงว่าเพื่อนๆ เคยเข้าสู่สภาวะ Flow State มาก่อนแล้ว และคงจะดีไม่น้อยเลยใช่ไหมถ้าเรารู้วิธีในการเข้าสู่สภาวะนั้นและจัดการกับทุกอย่างในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกวัน 

วันนี้เรารวบรวมวิธีการในการเข้าสู่สภาวะนี้จากที่ต่างๆ ทั้งจาก งานวิจัย Podcast และการบอกเล่าจากคนทำงาน จนออกมาได้เป็น 4 กุญแจสำคัญที่ใช้ไขความลับในการเข้าสู่สภาวะ Flow State มาเล่าให้ฟัง จะมีอะไรน่าสนใจบ้างลองมาอ่านกันดูเลย

Flow State หรือ The Zone คือ

ก่อนที่จะรู้ถึงวิธีการเข้าถึงเรามาทำความรู้จักกับสภาวะขั้นเทพนี้ก่อนสักนิดหนึ่ง Flow State คือสภาวะที่มนุษย์เราเข้าสู่ห้วงสมาธิระดับสูงที่จะทำให้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 โฟกัสกับบางสิ่งบางอย่างจนทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำสิ่งนั้นในระดับสูง

ส่วนมากแล้วเราจะพบสภาวะนี้ได้ในการเล่น “กีฬา” เพราะด้วยเงื่อนไขของกติกาที่มีข้อจำกัดทำให้เกิดสมาธิได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงในโลกของการทำงานที่มีโอกาสเข้าสู่สภาวะนี้ได้ด้วยเช่นกัน

โดยการจะเข้าสู่ Flow State ได้นั้นจะต้องมีองค์ประกอบของ 3 เหลี่ยมพีระมิดได้แก่ จิตใจ, ร่างกาย, และสภาพแวดล้อม 

“สภาพแวดล้อม” ไม่ดี ทำงานในที่เสียงดังก็เข้า Flow State ไม่ได้

“ร่างกาย” ไม่พร้อม พักผ่อนไม่เพียงพอ ป่วย ก็เข้า Flow State ไม่ได้

“จิตใจ” ไม่พร้อม ว้าวุ้น คิดมาก เป็นกังวล ก็เข้า Flow State ไม่ได้

4 กุญแจสำคัญในการเข้าสู่ Flow State

นี่คือ 4 วิธีการในการเข้าสู่ Flow State ที่รวบรวมมาจากหลายแหล่งข้อมูลจนได้เป็นวิธีหลักๆ ที่สามารถเข้าใจได้ง่าย ลองเอาไปใช้กันดูได้เลย

1. ทำสิ่งที่สมดุลกับทักษะของเรา ไม่ยากเกินไปไม่ง่ายเกินไป

การเข้าสู่ห่วงสมาธิขั้นสูงนั้นเราจะต้องทำในสิ่งที่เหมาะสมกับทักษะของเราและมีความยากเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพของเราด้วย 

ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่เราเล่นเกม เราทุกคนต่างมีทักษะในการเล่นเกมอยู่แล้วและเกมแต่ละเกมก็คงไม่ได้ออกแบบมาให้คนเล่นไม่ผ่านใช่ไหม นั่นแหละจึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุว่าเวลาเล่นเกมทำไมเราถึงรู้สึกดีเมื่อได้เล่น เพราะเกมเกือบทุกเกมถูกออกแบบมาภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ยากและไม่ง่ายเกินไปนั่นเอง

การประยุกต์ – แต่ในชีวิตจริงเราคงเลือกไม่ได้ว่าเราจะทำงานไหนหรือไม่ทำงานไหน วิธีการคือให้ “แบ่งส่วนของการทำงานในแต่ละวัน” 

หากเราเจองานที่ยากให้เราแบ่งทำงานนั้นในปริมาณที่เราคิดว่าทำได้ในแต่ละวันและนำอีกส่วนหนึ่งไปทำในวันถัดไป หากเจองานที่ง่ายเกินไปก็ให้เราเพิ่มปริมาณด้วยการเอางานของอีกวันมาทำเพิ่มให้อยู่ในปริมาณที่เราคิดว่าทำได้

หากทำแบบนี้เราก็จะสามารถทำงานที่ใกล้เคียงกับทักษะของเราและพลังงานของเราในแต่ละวันได้นั่นเอง

2. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้ให้มากที่สุด

เรื่องของสภาพแวดล้อมก็มีส่วนสำคัญในการเข้าสู่ Flow State อย่างมาก หากเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยในการทำให้เกิดสมาธิที่เหมาะสม สิ่งนี้ก็จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราเข้าสู่สภาวะนี้ได้

การประยุกต์ – ถ้าเลือกได้ให้เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เราควบคุมสิ่งรอบข้างได้มากที่สุด หากเราอยู่ในออฟฟิศที่มีการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานก็ให้เราทำการตกลงกับเพื่อนร่วมงานว่าช่วงเวลาไหนที่เราขอเวลาส่วนตัว หรือการเลือกปิดการแจ้งเตือนอุปกรณ์สื่อสารในห้องที่บ้าน ก็เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เราสามารถควบคุมได้ เป็นต้น

แต่ถ้าเราอยู่ในออฟฟิศที่มีแต่สิ่งรบกวนไม่ว่าจะเป็นเสียงเพลงจากโต๊ะข้างๆ เสียงพูดคุยของเพื่อนร่วมงานที่เราไม่สามารถบอกพวกเขาได้ เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับกฏเกณฑ์ของแต่ละที่ทำงานด้วย ถ้าเป็นไปได้ก็ควรเลือกงานที่ทำให้เรามีโอกาสในการควบคุมสภาพแวดล้อมในการทำงานของตัวเองได้

3. จัดการเป้าหมายที่ละอย่าง ห้ามทำหลายอย่างพร้อมกัน

วิธีนี้เป็นพื้นฐานที่สุดในการเข้าสู่ห้วงสมาธิ แต่ด้วยโลกโซเชียลมีเดียและความสนใจในยุคปัจจุบันเลยทำให้เป็นเรื่องยากที่เราจะทำอะไรต่อมิอะไรด้วยการโฟกัสเพียงอย่างเดียวได้ เอะอะเดี๋ยวเพื่อนก็ทักเดี๋ยวก็ไถไอจีเดี๋ยวก็ลงสตอรี่จนเราเสียเวลาในการทำงานไปอย่างเปล่าประโยชน์สุดๆ

เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีการโฟกัสกับงานหรือกิจกรรมใดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ถึงจะทำให้เราเข้าสู่สภาวะ Flow State ได้

การประยุกต์ – วิธีการก็คือให้เรากำหนดเวลาในการทำงานที่แน่นอนไว้เลย ขอแนะนำเทคนิค 112/26 วิธีการรูปแบบนี้จะทำให้เราโฟกัสกับการทำงานได้มากขึ้นในขณะเดียวกันก็มีเวลาพักให้สมองได้หลั่งสารแห่งความสุขอย่างมีประสิทธิภาพ

หากแบ่งเวลาพักกับเวลาทำงานอย่างชัดเจนสัดส่วนของเวลาที่เสียไประหว่างวันจะทำให้เราเห็นคุณภาพของการทำงานที่เพิ่มขึ้นได้ชัดเจนเลยทีเดียว

4. ทำงานในช่วงที่มีพลังงานมากที่สุด

วิธีการนี้คือการเลือกใช้พลังงานในช่วงเวลาที่เรามีแรงมากที่สุดซึ่งแต่ละคนก็มีช่วงเวลานี้แตกต่างกันไปบางคนมักจะทำงานได้ดีในเวลากลางคืนเพราะสงบบ้างหรือเย็นบ้าง บางคนก็ชอบทำงานหลังตื่นนอนเพราะยังมีพลังงานจากการพักผ่อนอย่างเต็มที่

การประยุกต์ – สิ่งสำคัญคือให้เราค้นหาช่วงเวลาที่เรามีพลังงานมากที่สุดนั่นเอง ให้ลองทำงานในช่วงเวลาที่แตกต่างกันสัก 2-3 วันและจด Feedback ของการทำงานเอาไว้ จากนั้นมาดูว่าช่วงเวลาไหนที่เราทำงานแล้วรู้สึกสบายที่สุดไม่ใช่ทำงานได้เยอะที่สุด

การทำงานได้เยอะไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกประสิทธิภาพของการทำงานเสมอไป ตัวชี้วัดที่สำคัญคือเราทำงานตอนไหนแล้วรู้สึกสบายๆ ไม่ฝืน และทำงานได้ต่อเนื่อง เมื่อค้นพบช่วงเวลานั้นแล้วก็ให้ยึกช่วงนั้นเป็นเวลาทำงานประจำวันของเราเอาไว้เลย

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการเข้าสู่สภาวะ Flow State 

รู้วิธีเข้าสู่ Flow State อย่างเดียวคงไม่พอเราควรรู้ด้วยว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงเพื่อให้วิธีการทั้ง 4 นั้นแสดงประสิทธิภาพอย่างเต็มที่โดยหลักๆ แล้วจะมีสิ่งที่ควรหลักเลี่ยงอยู่ 2 อย่าง ได้แก่

1. การจ้องที่จะเข้า Flow State ให้ได้

การเข้าสู่สภาวะ Flow State ไม่ใช่สิ่งที่คิดแล้วจำทำได้ แต่มันคือการรวบรวมองค์ประกอบที่ได้เล่าไปด้วยความคิดที่โฟกัสกับสิ่งที่ทำจนเกิดการลื่นไหลเหมือนระบบ Autopilot ที่ทุกอย่างดำเนินไปโดยอัตโนมัติ

การมีความคิดที่จะเข้าสู่ Flow State ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราหลุดโฟกัสจากสิ่งที่ทำให้ไปคิดถึงเรื่องอื่นได้เช่นกัน ยิ่งอยากเข้าสู่ Flow State มากแค่ไหนเราก็ยิ่งห่างไกลจากสภาวะนี้มากขึ้นเท่านั้น

2. ทำหลายอย่างพร้อมกัน

สภาวะ Flow State จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราโฟกัสอยู่ในสิ่งๆ เดียวจนเกิดเป็นสภาวะสุดยอดสมาธิเมื่อเข้าสู่สภาวะนี้ได้มันจะส่งผลต่อเนื่องให้เราโฟกัสกับสิ่งต่างๆ ได้อย่างเป็นระเบียบแบบแผนที่มีประสิทธิภาพจนน่าตกใจ

แต่ในระยะก่อนที่จะเข้าสู่ Flow State เราจะต้องมีสมาธิกับสิ่งเดียวก่อน ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายๆ ว่าถ้าเราทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันก่อนจะเข้าสู่สภาวะนี้ก็แทบจะไม่มีทางเลยที่เราจะโฟกัสกับสิ่งที่เราเริ่มต้นทำได้

Scale’s Takeaways

1. หาจุดลงตัวของการทำงาน

หนึ่งในวิธีการเข้าสู่ Flow State ก็คือการเลือกทำในสิ่งที่ไม่ยากเกินไปและไม่ง่ายเกินไป ในปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่ทุ่มเทกับการทำงานจนเกิดอาการ Burn out เคสหนักๆ ก็คือเกิดอาการวิตกกังวลเลยทีเดียว

“อะไรที่มากเกินไปก็ไม่ดีอะไรที่หย่อนเกินไปก็ไม่ดี” ประโยคนี้ยังคงใช้ได้อยู่เสมอในการหาสภาวะที่เรามีความสุขกับทุกเรื่อง หากการเข้าสู่ Flow State ทำให้เรามีความสุขกับการทำงานได้ มันก็คงเป็นเรื่องเดียวกันกับการทำให้เรามีความสุข ความสงบ ความสบายใจ ในทุกสิ่งที่ทำในชีวิตนั่นเอง

2. เป้าหมายที่ชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญ

การจะเข้าสู่สภาวะ Flow State ได้จะต้องมีการโฟกัสที่ดีในสิ่งที่ทำในแต่ละวัน หากมองเป็นภาพกว้างออกจากวิธีการนี้การจะทำเป้าหมายในแต่ละวันให้สำเร็จได้เราก็ต้องมีเป้าหมายหลักด้วยก่อนที่จะแบ่งเป็นเป้าหมายย่อย

การมีเป้าหมายหลักที่ชัดเจนจะทำให้เรามองเห็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อไปถึงเป้าหมายนั้นเป็นขั้นตอนได้ชัดเจนมากขึ้น และสิ่งที่ได้จากขั้นตอนเหล่านั้นก็คือความสำเร็จที่เราสะสมไปเรื่อยๆ ถึงแม้เป้าหมายหลักอาจจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จแต่ความสำเร็จเล็กๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทางต่างหากที่อาจจะเป็นความสำเร็จที่แท้จริงก็ได้

3. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ทุกอย่างจะดีตาม

จริงอยู่ว่าหลายคนอาจไม่ได้มีทางเลือกมากนักในการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับตัวเอง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่เราได้อยู่ในสถานที่ดีๆ กับผู้คนดีๆ กับความสัมพันธ์ดีๆ มันจะส่งผลให้ส่วนอื่นของชีวิตดีตามไปด้วย

ถึงแม้เราอาจจะเลือกสภาพแวดล้อมไม่ได้แบบ 100% แต่อย่างน้อยเราก็ควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเอาไว้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ทัศนคติที่ดี” ใครร้ายมาก็ให้ใช้ความเมตตาและให้อภัย ช่วยเหลือผู้อื่นโดยที่ไม่ทำให้ตัวเองลำบาก เปลี่ยนทัศนวิสัยด้วยความรู้การออกแบบที่ดี 

ชื่อว่าอย่างน้อยทัศนคติที่ดีของเราที่มีต่อสิ่งรอบข้างเหล่านี้ จะทำให้หลายสิ่งหลายอย่างดีขึ้นอย่างแน่นอน

สรุป

สังเกตได้ว่า 4 กุญแจที่ใช้ไขเข้าสู่ Flow State นั้นล้วนแล้วแต่มีความสำคัญที่เชื่อมโยงกับการใช้สติในการดำรงชีวิตทั้งสิ้น มันไม่ใช่พลังพิเศษอะไรและเป็นสภาวะที่ทุกคนสามารถเข้าไปได้

สิ่งสำคัญคือการสำรวจตัวเองและเข้าใจถึงความคิดอย่างนอบน้อมด้วยการยอมรับ เมื่อทำเช่นนั้นเราก็จะเห็นเส้นทางที่เหมาะสมกับตัวเราที่เหลือก็แค่ลงมือทำด้วยความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ

เมื่อนั้นแหละคือสภาวะ Flow State ที่จะทำให้ชีวิตของเพื่อนๆ ไหลลื่นไปกับความสุขระหว่างทางได้อย่างแท้จริง

อ้างอิง:

https://www.headspace.com/articles/flow-state

https://www.verywellmind.com/what-is-flow-2794768

http://web.cs.wpi.edu/~gogo/courses/imgd5100/papers/FlowQuestionnaire.pdf 

About The Author

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ติดตาม scale เพื่อเติมความรู้ดีๆ ใส่สมองก่อนใคร!

เราสัญญาว่าจะเติมแต่ความรู้ดีๆ ใส่สมองของคุณ :)

ติดตามต่อทาง Social Media

นอกจากอีเมลแล้ว คุณยังสามารถติดตามคอนเทนต์ดีๆ ผ่าน Social Media ได้เช่นกัน

เราสัญญาว่าจะเติมแต่ความรู้ดีๆ ใส่สมองของคุณ :)

ติดตามเราทาง Facebook

เราสัญญาว่าจะเติมแต่ความรู้ดีๆ ใส่สมองของคุณ :)

กดปุ่มนี้

Scroll to Top