เคยสงสัยไหมว่าทำไมปัจจุบันนี้เราถึงทำงาน 5 วัน หยุด 2 วัน? ทำไมถึงไม่สลับกัน เป็นทำงาน 2 วัน หยุด 5 วัน? 😂
ย้อนกลับไปร้อยกว่าปีก่อน มนุษย์เรายังคุ้นเคยกับการทำงาน 6 วัน หยุด 1 วัน ซึ่งยุคนั้นเป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เรื่องการผลิตเฟื่องฟูมาก ยิ่งทำงานเยอะ ก็เหมือนจะยิ่งผลิตสินค้าออกมาได้เยอะ
เช่นสมมติว่าผลิตของได้ชั่วโมงละ 5 ชิ้น ทำงาน 10 ชั่วโมง จะได้ของ 50 ชิ้น แต่ถ้าเพิ่มเป็น 14 ชั่วโมง ก็จะได้เพิ่มเป็น 70 ชิ้น
และยิ่งกดค่าแรง กดค่าจ้างลงต่ำเท่าไหร่ บริษัทก็จะยิ่งได้กำไรมากขึ้นเท่านั้น
แนวคิดแบบนี้ ส่งผลให้แรงงานต้องทำงานหนักโดยที่ผลตอบแทนน้อย แบบอยู่ได้พอกินพอใช้ ไม่เหลือเงินเก็บ การประท้วงก็เลยเกิดอยู่ขึ้นบ่อยๆ ในช่วงนั้น
ต้นเรื่องของการทำงานแบบ ทำ 5 หยุด 2
ในช่วงปี 1914 มีผู้ชายคนหนึ่ง ที่คิดต่างออกไป เขาคิดว่าถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็คงจะไม่เวิร์ค แรงงานไม่มีสวัสดิภาพที่ดี ไม่มีเวลาไปผ่อนคลายหรือทำสิ่งใหม่ๆ ส่งผลให้ไม่มีอารมณ์ในการทำงาน
เขาก็เลยบอกว่า หลังจากนี้ คนงานในบริษัทของเขาจะทำงานแค่ 5 วันต่อสัปดาห์ และจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อวันจาก $2.34 เป็น $5 ต่อวัน (9 ชั่วโมง)
ซึ่งเขาคาดหวังว่าพอแรงงานของเขามีเงินมากขึ้น มีเวลามากขึ้น พวกเขาจะมีแรงกายแรงใจในการทำงานมากขึ้น มีเวลาไปพักผ่อน ช้อปปิ้ง ซื้อสินค้า และบางทีถ้าพวกเขามีเงินเก็บมากพอ… พวกเขาอาจจะมาซื้อรถที่เป็นสินค้าที่พวกเขาผลิตขึ้นมาก็เป็นได้
ชายคนนี้มีชื่อว่า “Henry Ford” ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตรถยนต์ชื่อดังของโลกอย่าง Ford นั่นเอง
ผลลัพธ์ที่เขาตัดสินใจทำอย่างนี้ทำให้พนักงานทำงานน้อยลง โดยที่เขาต้องจ่ายเงินมากขึ้น แต่มันก็ทำให้ผลผลิตหรือ Productivity ของ Ford เพิ่มขึ้นมากด้วยเช่นเดียวกัน
หลังจากนั้น Model การทำงานแบบ Ford ก็ได้กลายเป็นแบบอย่างให้กับอีกหลายๆ บริษัทจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
Scale’s Takeaways
1. Henry Ford ถือเป็นคนที่มองการณ์ไกล
การขึ้นเงินเดือนและลดเวลาทำงานคือการทำสิ่งที่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อยอดขายหรือกำไรโดยตรง (เอาจริงๆ ดูเหมือนจะส่งผลลบด้วยซ้ำในตอนแรกๆ) แต่สุดท้ายมันกลับให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนและทำให้ผลผลิตมากขึ้น
ซึ่งมีอีกหลายๆ ธุรกิจที่ใช้วิธีการแบบ “ไม่ทำตรงๆ” แต่สิ่งที่ทำนั้นส่งผลดีทางอ้อมให้กับธุรกิจอย่างมหาศาล เช่นบริษัทขายยางอย่าง Michelin ที่ตัดสินใจทำ Michelin Guide ขึ้นมา หรืออย่างบริษัทผลิตรถยนต์ที่ชื่อว่า Renault ที่ตัดสินใจทำแอป Plug Inn ที่เป็นเหมือน Airbnb สำหรับคนที่ต้องการแชร์ & ชาร์จไฟฟ้าให้กับรถยนต์
2. เวลาลด + เงินเพิ่ม = มีทางเลือกเรื่องคนมากขึ้น
เวลาทำงานที่น้อยลงที่มาพร้อมกับเงินมากขึ้น ส่งผลให้ Ford สามารถดึงดูดคนเข้ามาร่วมงานได้มากขึ้น พวกเขาเองก็สามารถคัดคนที่มีความสามารถและตั้งใจมาช่วยทำงานได้ ซึ่งสิ่งนี้เองก็ส่งผลให้ผลผลิตของ Ford มากขึ้นด้วยเช่นกัน
3. โฟกัสที่ Outcome ไม่ใช่ Input
สิ่งที่ Ford พยายามโฟกัสนั้นไม่ใช่เรื่องการดูว่าคนงานทำงานเยอะเท่าไหร่ ลงแรงไปกี่ชั่วโมง แต่เป็นการโฟกัสที่ผลลัพธ์ ซึ่งก็คือปริมาณรถที่ผลิตออกมาได้ และจำนวน Defect (ชิ้นงานที่เสีย) ที่น้อยลง
จริงๆ แล้วในปัจจุบัน ก็มีบริษัทที่รณรงค์เรื่องการใช้เวลาในการทำงานให้น้อยลงแต่ได้ผลลัพธ์ดีขึ้น (ทำงาน 4 วันหยุดพัก 3 วัน) อยู่หลากหลายบริษัทเช่น 37Signals (Basecamp) หรือ Buffer เป็นต้น แต่บริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่ Outcome ที่ดีอาจจะให้ผลดีกว่า Input ที่แย่เป็นสิบๆ หรือเป็นร้อยๆ เท่า
สรุป: การทำงานแบบทำ 5 วัน หยุด 2 วัน
การทำงานเยอะ หามรุ่งหามค่ำ อาจจะไม่ใช่วิธีการในการทำงานที่ดีที่สุดในทุกๆ สถานการณ์ การทำแบบ Ford ที่โฟกัสที่ Outcome แทนที่จะเป็น Input อาจจะทำให้ผลลัพธ์ดีกว่า
อ้างอิง