จากกล่องข้าวโฟม สู่กล่องข้าวกระดาษ ไอเดียการรักษาสิ่งแวดล้อมจากธุรกิจร้านอาหารที่อุตสาหกรรมนี้ยังคงคิดพัฒนาอยู่ตลอด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความรับผิดชอบต่อสังคม อยากรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยวัสดุหรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับโลก แต่ร้านอาหารเล็กๆ มักถูกจำกัดด้วยต้นทุนที่สูงเกินตัวจากวัสดุเหล่านั้น สุดท้ายก็ต้องเลือกกลับมาใช้กล่องโฟม ใช้ถุงพลาสติกกันเหมือนเดิม
วันนี้อยากพาไปดูโมเดลธุรกิจของแพลตฟอร์มหนึ่งจากแวนคูเวอร์ ที่ช่วยตอบโจทย์ปัญหาบรรจุภัณฑ์ของร้านอาหารสำหรับออเดอร์ห่อกลับบ้านให้สามารถใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ทำลายธรรมชาติ แถมยังคงคุณภาพจนถึงช่วยยกระดับบริการ แต่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงอย่าง ‘Reusables'
Reusables เป็นแพลตฟอร์มให้เช่ากล่องอาหาร ที่มีโมเดลหลักคือให้ร้านอาหารที่เข้าร่วม สามารถเช่ากล่องข้าวและแก้วน้ำสแตนเลสของแบรนด์ เพื่อใช้ในบริการเดลิเวอรีของร้านได้ โดยเมื่อลูกค้าสั่งอาหารจากร้านและต้องการห่อกลับบ้าน เพียงระบุว่าต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ของ Reusables ร้านค้าก็สามารถใช้บรรจุภัณฑ์สแตนเลสของแบรนด์เพื่อบรรจุอากหารให้ลูกค้าออเดอร์นั้นได้เลย
ขอบคุณรูปภาพจาก Reusables
หลังจากทานอาหารเสร็จแล้ว ลูกค้าก็ล้างให้สะอาดแล้วส่งคืนทางแบรนด์ภายใน 14 วัน ผ่านการ Drop Off ที่ร้านค้าที่เข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ Reusables ร้านใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นร้านเดียวกันกับร้านที่สั่งอาหาร สะดวกสุดๆ
ด้วยบริการนี้ ทำให้ร้านค้ามีต้นทุนในร้านที่น้อยลงจากค่าบรรจุภัณฑ์ แถมยังสามารถรองรับลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์สนใจการดูแลโลก สร้างภาพลักษณ์ที่ดี เสริม Loyalty ไปอีก!
[Scale’s Takeaways]
1. Uber Eats x Reusables
ในปี 2023 นี้ Uber ได้ประกาศเป้าหมายว่าจะลดปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการจัดส่ง Uber Eats ทั่วโลกภายในปี 2040 และมุ่งเน้นการช่วยให้ร้านค้ากำจัดขยะพลาสติกจากการจัดส่งภายในปี 2030 ด้วยเป้าหมายนี้จึงได้ร่วมกับ Reusables ให้ผู้ใช้สามารถเลือกบรรจุภัณฑ์แบบใช้ซ้ำได้เป็นตัวเลือกเมื่อสั่งอาหารจากร้านที่ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์
การร่วมมือนี้ทำให้ Reusables เป็นที่รู้จักและผลักดันให้ร้านค้าต่างๆ เสนอทางเลือกนี้แก่ลูกค้าได้มากขึ้นด้วย
2. ความเข้มงวดของแคนาดาต่อบริษัทที่พยายามจะเคลม ‘Sustainability'
ในปี 2022 รัฐบาลแคนาดาได้พัฒนากฎการติดฉลากใหม่ ให้ผู้ผลิตไม่สามารถพิมพ์สัญลักษณ์รีไซเคิลหรือคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับการรีไซเคิลอื่นๆ บนบรรจุภัณฑ์พลาสติกและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวได้ เว้นแต่จะเป็นไปตามเงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการที่คนแคนาดา 80% จะต้องสามารถเข้าถึงระบบการรีไซเคิล คัดแยก และแปรรูปพลาสติกเหล่านั้นได้
ขอบคุณรูปภาพจาก purpleturtleco.com
นอกจากนี้ยังพิจารณากฎควบคุมการใช้คำศัพท์ด้านความยั่งยืน เช่น Compostable, Degradable และ Biodegradable บนบรรจุภัณฑ์พลาสติกหรือสินค้าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวด้วย ห้ามเคลม!
3. การเลือกบรรจุภัณฑ์อาหารที่เหมาะกับธุรกิจ
- ทำความรู้จักกลุ่มลูกค้าของตัวเองทั้ง รสนิยม ไลฟ์สไตล์ และพฤติกรรม เพื่อดีไซน์บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม
- ต้นทุน ไม่ควรเกิน 30% ของต้นทุนทั้งหมด หรือคิดใหม่เหมาะสมกับรายได้ในระยะยาว
- ลักษณะของอาหารก็ส่งผลต่อข้อจำกัดของบรรจุภัณฑ์อย่างมาก เช่น ของทอดห้ามปิดฝาสนิทไม่งั้นจะไม่กรอบอร่อย เป็นต้น
- รูปแบบการขนส่งก็มีผลต่อบรรจุภัณฑ์ไม่แพ้กัน เช่นถ้าเราสั่งเดลิเวอรีก๋วยเตี๋ยวต้มยำน้ำข้น ก็เป็นการยากทั้งในเรื่องการขนส่งและการจำกัดต้นทุนหากไม่ใช่บรรจุในถุงพลาสติก เป็นต้น
สรุป
อย่างไรก็ตาม การเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมนอกจากจะช่วยรักษาคุณภาพของอาหารแล้วยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจด้วย
ปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มความประทับใจกับแบรนด์ที่ดำเนินธุรกิจโดยใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ยิ่งถ้าเห็นความ ECO Friendly ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ก็เรียกได้ว่าเป็นการสร้าง First Impression ที่ดีได้เลยล่ะ
อ้างอิง
- https://reusables.com/
- https://www.instagram.com/reusables_takeout/
- https://www.cpacanada.ca/en/business-and-accounting-resources/financial-and-non-financial-reporting/sustainability-environmental-and-social-reporting/publications/sustainability-reporting-updates
- https://www.packaging-gateway.com/news/canada-plastic-labelling-recycling/?cf-view
- https://reusables.com/blogs/news/uber-eats-partners-with-reusables-com-for-sustainable-packaging-in-vancouver