ร้านบุฟเฟ่ต์ที่กำลังมาแรงแห่งยุค ที่เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย จากกลยุทธ์การตั้งราคา โดยคุณ เฟิร์น นัทธมน พิศาลกิจวนิช ที่มองเห็นช่องว่างทางการตลาดของธุรกิจบุฟเฟต์ชาบูนอกห้าง ที่ยังไม่มีแบรนด์ใดที่ดูโดดเด่นหรือเป็นเจ้าตลาดนี้ เขาจึงตัดสินใจเปิดร้านบุฟเฟ่ต์เพื่อจะเข้ามาเป็นเจ้าตลาด และใช้ชื่อแบรนด์ว่า สุกี้ตี๋น้อย
ถอดกลยุทธ์แบรนด์ดัง บุฟเฟต์ชาบูที่เปิดตั้งแต่เที่ยงวันยันตีห้า ประสบความสำเร็จได้อย่างไร?
จุดเริ่มต้นมาจากที่เขารู้สึกว่าไม่อยากทำงานประจำ จึงตัดสินใจลาออกและอยากมาเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งที่บ้านมีธุรกิจร้านอาหารชื่อ เรือนปั้นหยา อยู่แล้ว แต่ปัญหาของธุรกิจเดิมคือไม่สามารถขยายธุรกิจได้ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการคงรสชาติของอาหารในแต่ละสาขา ทำให้เขาอยากที่จะสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมา
คุณเฟิร์นได้ตัดสินใจทำธุรกิจอาหารเพื่อใช้ประสบการณ์เดิมจากที่บ้านมาต่อยอด แต่จำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาเรื่องการรักษามาตรฐานด้านรสชาติ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อไปได้ จนค้นพบว่าธุรกิจบุฟเฟต์ชาบู สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เพราะรสชาติยู่ที่การควบคุมมาตรฐานด้านน้ำจิ้ม น้ำซุป และเมนูของสดต่างๆ
เขาจึงเริ่มต้นทำธุรกิจบุฟเฟต์ชาบูหรือสุกี้ตี๋น้อย โดยได้เปิดสาขาแรกที่คอมมูนิตี้มอลล์บ้านบางเขน ซึ่งสิ่งที่ทำให้สุกี้ตี๋น้อยแตกต่างจากบุฟเฟต์ชาบูหลักร้อยเจ้าอื่นๆในตลาดที่อยู่นอกห้างคือการบริการ และสิ่งที่มอบให้กับลูกค้ามากกว่าความคาดหวังหรือสิ่งที่มีอยู่ในตลาดทั่วไป
ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกสบาย พื้นที่ภายในร้านที่กว้าง นั่งทานได้สบาย การตกแต่งร้านที่ช่วยสร้างบรรยากาศและประสบการณ์ของลูกค้าเมื่อเข้ามาทาน จนไปถึงการบริการด้านที่จอดรถที่ร้านบุฟเฟต์ชาบูในราคาหลักร้อยส่วนใหญ่ในตลาดมักจะไม่ค่อยมี
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำให้ลูกค้ามาทานแล้วเกิดความรู้สึกคุ้มค่าเกิน และส่งมอบสินค้าหรือบริการที่เกินความคาดหวังของร้านบุฟเฟต์ชาบูหลักร้อยให้กับลูกค้า ทำให้ลูกค้าประทับใจและอยากกลับมาทานบ่อยๆ
หลังจากเปิดตัวสาขาแรกคุณเฟิร์นก็ได้เก็บข้อมูลลูกค้าที่มาทานจากการรับฟัง Feedback เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาต่อ ซึ่งเขาก็ค้นพบว่าตลาดบุฟเฟต์ชาบูเป็นตลาดที่ใหญ่มากๆ และต้องตอบสนองกลุ่มเป้าหมายหลายกลุ่ม ซึ่งแบ่งแยกได้ตามรายได้ และวิถีการใช้ชีวิตในแต่ละช่วงเวลา
โดยในช่วงแรกสุกี้ตี๋น้อยเปิดให้บริการเวลาเที่ยงถึงสี่ทุ่ม ต่อมาจึงได้ขยายเวลาเพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่ทำงานกะดึก พนักงานในห้าง คนที่ทำงานกลางคืน เช่น แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รวมไปถึงกลุ่มนักศึกษาหรือคนที่มีวิถีชีวิตกลางคืน ทำให้ในปัจจุบันสุกี้ตี๋น้อยเปิดให้บริการตั้งแต่เที่ยงถึงตีห้า เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายใหม่ เพราะยังไม่ค่อยมีร้านบุฟเฟต์ชาบูในตลาดที่ตอบสนองความต้องการลูกค้ากลุ่มนี้ได้
ทำให้สุกี้ตี๋น้อยเป็นที่รู้จักมากขึ้น และจำนวนลูกค้าก็เพิ่มมากขึ้น จากการใส่ใจและสังเกตกลุ่มลูกค้าด้วยตัวเอง ซึ่งถือเป็นจุดแข็งและเป็นอีกหนึ่งภาพจำของลูกค้าว่า ถ้านึกถึงหรืออยากกินบุฟเฟต์ชาบูตอนกลางคืน สุกี้ตี๋น้อยก็ได้ขึ้นมาเป็นหนึ่งในตัวเลือกแรกๆ ของคนกลุ่มนี้ที่มีวิถีชิวิตกลางคืนหรือชอบกินตอนดึกๆ
ด้วยราคาที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่ม และระยะเวลาในการเปิดให้บริการที่สร้างความแตกต่างจากตลาด รวมไปถึงการส่งมอบประสบการณ์การทานบุฟเฟต์ชาบูราคาหลักร้อยที่เหนือความคาดหวังของลูกค้า ทำให้สุกี้ตี๋น้อยเติบโตและขยายสาขาขึ้นมาเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งได้ ในตลาดสุกี้ชาบูแบบบุฟเฟต์
โดยปัจจุบันข้อมูลจาก Carden เปิดเผยว่า สุกี้ตี๋น้อย สามารถสร้างรายได้ในปี 2565 ได้ถึง 3,976.34 ล้านบาท และมีกำไร 591.48 ล้านบาท และมีจำนวนสาขามากถึง 49 สาขา ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น
Scale’s Takeaways
1. สร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์
สังเกตได้ว่า แม้ธุรกิจบุฟเฟต์ชาบูในประเทศไทยจะมีอยู่เป็นจำนวนมาก และดูเหมือนว่าจะเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันสูง ซึ่งแต่ละร้านก็เหมือนจะไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมาก แต่การเข้าใจผู้บริโภคหรือกลุ่มลูกค้าของธุรกิจ ทำให้สุกี้ตี๋น้อยสามารถสร้างความแตกต่างได้
โดยเฉพาะด้านการให้บริการ ไม่ว่าจะป็นพื้นที่ภายในร้าน ไปจนถึงบริการด้านที่จอดรถ ที่เป็นปัญหาของลูกค้าหรือคนกรุงเทพโดยเฉพาะ รวมไปถึงระยะเวลาการเปิดให้บริการอีกด้วย
2. กลยุทธ์การตั้งราคา
นอกจากกลยุทธ์ทางการตลาดแล้ว สุกี้ตี๋น้อยได้ใช้กลยุทธ์การตั้งราคาที่คำนึงถึงลูกค้าเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดราคา โดยปกติธุรกิจมักจะตั้งราคาที่บวกกำไรจากต้นทุนของธุรกิจเอง แต่สุกี้ตี๋น้อยรู้ว่าลูกค้าคือใคร และได้มีการเลือกกลุ่มตลาดที่ชัดเจน ก่อนที่จะตัดสินใจกำหนดราคาให้เข้ากับกลุ่มลูกค้า
3. การรักษามาตรฐานของธุรกิจ
การรักษามาตรฐานเปรียบเสมือนการรักษาลูกค้าหรือความสัมพันธ์กับลูกค้า โดยเฉพาะธุรกิจบริการ หรืออย่างร้านอาหารสุกี้ตี๋น้อย เพราะการได้มาซึ่งลูกค้าใหม่เป็นเรื่องที่ยากกว่าการรักษาลูกค้าเก่าเอาไว้ การทำให้แบรนด์หรือธุรกิจมีมาตรฐานที่ชัดเจน จะทำให้ลูกค้ารู้สึกพึงพอใจในทุกๆครั้ง ที่ได้เข้ามาใช้บริการหรือใช้งานผลิตภัณฑ์ และสามารถทำให้เกิดการบอกต่อจากเพื่อนสู่เพื่อน หรือรุ่นสู่รุ่นได้อีกด้วย
คุณเฟิร์นเองก็เคยมีบทเรียนจากธุรกิจร้านอาหารของครอบครัวที่ไม่สามารถขยับขยายเติบโตไปมากกว่าเดิมได้ เพราะปัญหาเรื่องการรักษามาตรฐานด้านรสชาติของอาหารที่ต้องทำสดใหม่จานต่อจาน จนปัจจุบันที่เขาสามารถแก้ปัญหานี้และเติบโตขึ้นมาเป็นแบรนด์ที่มียอดขายหลักพันล้านได้
สรุป
เรื่องราวความสำเร็จของธุรกิจบุฟเฟต์ชาบูราคาหลักร้อยจากแบรนด์สุกี้ตี๋น้อย ทำให้เราได้ข้อคิดด้านการทำธุรกิจหลากหลายแง่มุม แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ได้จากบทความนี้ คงเป็นการที่ธุรกิจเข้าใจว่าลูกค้าของตัวเองต้องการอะไรหรือคาดหวังอะไร เพื่อนำมาออกแบบการตลาดหรือการบริการให้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้
ถ้าใครเคยมีโอกาสได้ไปลองทานสุกี้ตี๋น้อยกันมาแล้ว หรือใครที่เป็นลูกค้าประจำของแบรนด์นี้ อย่าลืมมาแชร์ความประทับใจว่าอะไรที่คุณถึงชื่นชอบ? หรือมีปัจจัยอะไรที่ทำให้เลือกทานสุกี้ตี๋น้อย? มาแชร์กันได้ที่ใต้คอมเมนต์นี้เลย
อ้างอิง
- https://data.creden.co/company/general/0105562009772
- https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/969773
- https://www.youtube.com/watch?v=HXHk-U6MNTg