เมื่อเร็วๆ นี้ คนไทยต้องได้เห็นว่า มีการเปลี่ยนป้าย “Bangkok” เป็นป้ายใหม่สีเขียว บน Sky Walk แยกปทุมวัน บริเวณหน้าหอศิลปฯ เชื่อมต่อ MBK-BTS ซึ่งเป็นจุดเช็กอินและแลนด์มาร์กยอดนิยม ในการถ่ายรูปของชาวต่างชาติ
โดย กทม. เผยว่าได้ทุ่มงบ 3 ล้านเพื่อปรับ CI ใหม่ สะท้อน อัตลักษณ์เมือง-ความสุขของผู้คน
แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ นำมาซึ่งคำวิพากษ์พิจารณ์ของคนไทยบางกลุ่มที่ไม่พึงพอใจมากนักกับป้ายใหม่สีเขียว แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกกลุ่มมองว่านี่คือการออกแบบที่คิดมาอย่างดีและสวยงาม เรียกได้ว่า การออกแบบที่เป็นอัตลักษณ์ของเมืองนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายเป็นอย่างมากเลยทีเดียว เพราะเรื่องของความสวยงามนั้นเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลเป็นอย่างมาก
จากเคสนี้ทำให้รู้เลยว่า การออกแบบหรือปรับเปลี่ยน Visual Identity (อัตลักษณ์ในเชิงภาพ) ไม่ว่าจะ โลโก้ เว็บไซต์ หรือฟอนต์ในปัจจุบันไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ภาคธุรกิจ แต่รัฐบาลของหลายประเทศกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก
และถ้าหากพูดถึงผลงานสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามได้เลยนั่นก็คือ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ หรือ The Rijksoverheid ที่มีการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ออกมาด้วยการผสมผสานความเรียบง่ายและความเป็นมิตรได้อย่างลงตัว
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์มีการออกแบบเป็นอย่างไร? ตามไปอ่านกันได้เลย
รัฐบาลต้องมี Visual Identity ด้วยหรอ?
การออกแบบการสื่อสาร คือ การออกแบบความสัมพันธ์ Visual Identity ที่เป็นมาตรฐานและสม่ำเสมอจากรัฐบาล จึงเป็นเครื่องแสดงวิสัยทัศน์ ช่วยให้ประชาชนรู้ว่า รัฐบาลของพวกเขามีมุมมองต่อพวกเขาอย่างไร การแบ่งแยกโลโก้ สี และตัวอักษรที่ชัดเจน ช่วยให้เกิดภาพจำที่ง่ายต่อการแยกแยะหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตในแง่มุมที่ต่างกัน
Visual Identity ยังมีส่วนช่วยในด้านเศรษฐกิจ ในกรณีของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีหน่วยงานของรัฐฯ ถึง 175 องค์กร โลโก้มากมายเกิน 200 โลโก้ ยังไม่รวมถึงฟอนต์ สี และองค์ประกอบอีกมากมาย ในแต่ละปีต้องใช้ทรัพยากรด้านการออกแบบกราฟิกอย่างมหาศาล การรวบรวมการออกแบบของทุกหน่วยงานไว้ภายใต้ร่ม Visual Identity เดียวกัน นอกจากจะช่วยให้เกิดภาพจำที่สม่ำเสมอแล้ว ยังช่วยประหยัดเวลาและงบประมาณได้อย่างยั่งยืน
ความใส่ใจนี้เป็นเครื่องมือแสดงศักยภาพ ดึงดูดสายตานักลงทุนให้สนใจอุตสาหกรรมการออกแบบได้อีกด้วย
Visual Identity ที่ดี ต้องมีหน้าตาแบบไหน?
การออกแบบที่ดี ต้องตรงกับโจทย์ที่ต้องการสื่อสารและบริบทการใช้งาน โดยแนวคิดหลักของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ในครั้งนี้ คือ การลดระยะห่างระหว่างรัฐบาลและประชาชน โดยใช้ความจริงใจ ตรงไปตรงมา ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ธรรมดา และเป็นมิตรของชาวเนเธอร์แลนด์ได้เป็นอย่างดี โดยมีบริษัท Studio Dumbar/DEPT บริษัทเพื่อนร่วมชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Visual Branding และ Online Branding เป็นผู้ออกแบบ
Scale’s Takeaways
1. การออกแบบที่ดี ต้องตรงโจทย์และวัดผลได้
จริงอยู่ที่ “ความชื่นชอบ” นั้นขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน แต่การออกแบบที่ดีต้องสื่อสารให้ตรงกับโจทย์ ผู้ใช้งานควรรับรู้โจทย์นั้นจากผลงาน เช่น ความมั่นใจในตัวเองแบบสหรัฐอเมริกา ความตรงไปตรงมาแบบเยอรมัน หรือความธรรมดาที่เป็นมิตรแบบเนเธอร์แลนด์
2. ความสวยงามต้องใช้งานง่าย
คู่มืออัตลักษณ์ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์สร้างความสมดุลระหว่าง “กฎ” และ “ความเป็นอิสระ” สร้างภาพลักษณ์ที่เป็นหนึ่งเดียว โดยไม่บดบังตัวตนและความคิดสร้างสรรรค์ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อทำให้เกิดภาพจำ การสร้างผลงานที่สม่ำเสมอ และป้องกันสภาวะคอขวดในการทำงาน สามารถประหยัดงบประมาณไปได้ถึง 8 ล้านยูโรต่อปี
3. การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา
การลงทุนที่ใหญ่ที่สุด คือ การลงทุนด้านเวลา ทั้งเวลาที่ใช้ในการออกแบบ เวลาที่ใช้ในการปรับเปลี่ยน และเวลาในการปรับตัวของทุกฝ่าย การเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์แต่ละครั้ง ผู้ออกแบบต้องรอเวลาให้ผู้ใช้งานได้คลุกคลีกับผลงานที่สมบูรณ์แล้ว ถึงจะตอบได้ว่า เสียงตอบรับของผู้คนเดินถนน นั้นเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากการใช้งาน เช่น ในกรณีของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์
สรุป
ความเข้าใจในโจทย์เป็นรากฐานสำคัญ นำไปสู่การออกแบบที่ดี เป็นการลงทุนและต่อยอดเพื่อความยั่งยืน ทั้งในภาคเอกชน จนไปถึงระดับรัฐบาล
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ทุกคนคิดว่า “โจทย์การสื่อสาร” ของรัฐบาลไทยมีอะไรบ้าง และอยากให้ Visual Identity ของรัฐบาลไทยมีหน้าตาแบบไหน? คอมเมนต์มาคุยกันได้เลย
อ้างอิง
- https://studiodumbar.com/work/the-dutch-government
- https://medium.com/@giannisinni/designing-a-country-fa0122e2bd1b
- https://youtu.be/nMwUOWCnQ6Q?si=r1JC_-qpvO5v80Pw
- https://www.thairath.co.th/money/business_marketing/marketing/2789211