แม้งาน TEDxChiangMai 2024 ที่จัดขึ้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมาจะจบลงไปแล้ว แต่เชื่อว่าความประทับใจยังคงตราตรึงใจใครหลายๆ คน ทั้งมวลบรรยากาศที่ได้สัมผัสภายในงาน บทสนทนากับผู้ร่วมงานท่านอื่นๆ หรือจะเป็นเรื่องราวจากสปีกเกอร์ที่มาแชร์ไอเดียให้เราได้ฟังกัน
หลังจากอีเวนต์จบทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่จะได้สัมภาษณ์และพูดคุยกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังอีเวนต์ทอล์ก อย่าง TEDxChiangMai ในครั้งนี้
และด้านล่างนี้คือบทสนทนาว่าด้วยเรื่องของ TEDxChiangMai บทสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟกับคุณมาร์ติน เฟ็นสกี้-สตาล์ลิ่ง (Martin Venzky-Stalling) ผู้อยู่เบื้องหลัง TEDxChiangMai และความฝันที่อยากผลักดันเชียงใหม่ให้เป็นเมืองแห่งโอกาส
มาร์ติน เฟ็นสกี้-สตาล์ลิ่ง (Martin Venzky-Stalling) ชายชาวเยอรมันที่ลงหลักปักฐานอยู่ที่เชียงใหม่มาแล้ว 14 ปี เขาเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU STeP) เป็นคณะกรรมการเชียงใหม่สร้างสรรค์ (Creative Chiang Mai) และยังเป็น License Holder ของงาน TEDxChiangMai ไม่แปลกที่เราจะได้เห็นถึงความทุ่มเทและประกายแห่งความสุขที่ต้องการจะผลักดันและพัฒนาเชียงใหม่ให้เป็นเมืองแห่งความหวังและโอกาสผ่านตัวชายคนนี้ตลอดการพูดคุย
เล่าให้ฟังหน่อยว่าจุดเริ่มต้นกว่าจะมาเป็น TEDxChiangMai ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาเป็นยังไง
‘ต้องเล่าย้อนกลับไปตั้งตอนแรกผมมาที่เชียงใหม่เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และเพื่อดูว่าเชียงใหม่ยังขาดอะไรบ้างเพราะ STeP จะโฟกัสไปที่นวัตกรรม บ่มเพาะธุรกิจใหม่ ทำงานวิจัยร่วมกับเอกชนเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือดูว่ามีอีเวนต์หรือกิจกรรมอะไรบ้างที่เราจะพัฒนาได้ในเชียงใหม่
จนมีชาวต่างชาติมาจัดอีเวนต์ทอล์กอย่าง TED TALK ที่เชียงใหม่ ชื่อว่า TEDxDoiSuthep ซึ่งผมก็ได้เข้าร่วมอยู่ในทีมตอนนั้น ทำให้ผมเอง ทาง STeP และเครือข่ายของเชียงใหม่สร้างสรรค์ได้เห็นถึงคอนเซ็ปต์ของ TED TALK แต่ก็รู้สึกว่าเขายังมองเชียงใหม่ได้ไม่ครบ ยังมีมิติอื่นที่เชียงใหม่ต้องการและอยากสื่อสารไอเดียออกมา เพราะเชียงใหม่มีอะไรดีๆ มากมาย มากกว่าวัดมากกว่าร้านกาแฟ อีกทั้งยังมีเพื่อนที่เคยได้ไปเข้าร่วมอีเวนต์ TED มาเล่าให้ฟังทำให้ผมเกิดความสนใจและได้มาจัดอีเวนต์เองครั้งแรกชื่อว่า TEDxThaPhaeGate 2012 ร่วมกับคณะบริหารกับพาร์ทเนอร์อื่นๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีเวนต์ที่ประสบความสำเร็จพอสมควร’
หลังจากที่จัด TEDxThaPhaeGate 2012 ได้สำเร็จ ก็ทำให้เกิดเป็น TEDxChiangMai 2013 ในปีต่อมา เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีผู้เข้าร่วมถึง 500 คน และหลังจากนั้นก็มีการจัดมาเป็นประจำเกือบทุกปี (โดยแต่ละครั้งจะจัดห่างกันประมาณ 15-18 เดือน) ซึ่งหากลองนับจริงๆ แล้วทางคุณมาร์ตินและทีมรวมทั้งอาสาสมัครได้จัด TEDxChiangMai ที่เป็นอีเวนต์ขนาดใหญ่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 500 คน มาแล้วถึง 12 ครั้งนับตั้งแต่ TEDxChiangMai 2013 ที่จัดเป็นครั้งแรก และหากเล่าถึงปีที่ใหญ่ที่สุดจะเป็น TEDxChiangMai 2018
จนถึงอีเวนต์ล่าสุด TEDxChiangMai2024 ที่จัดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ร้าน Moment's Notice Jazz Club จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผ่านมา ก็มีผู้เข้าร่วมอีเวนต์ประมาณ 300 คน
อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้จัด TEDxChiangMai ต่อได้เรื่อยๆ
เพราะว่ามันสนุกครับ (หัวเราะ) และเรายังอยาก Contribute ต่อชุมชนต่อด้วย ทุกๆ ครั้งที่ได้รับฟีดแบคหลังจบงานจากวิทยากร อาสาสมัคร สปีกเกอร์ พาร์ทเนอร์ รวมทั้งผู้ร่วมงาน สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเหมือนพลังที่ทำให้เราอยากทำต่อไปเช่นกัน อยากพัฒนาเมืองที่เราอยู่ให้ดีขึ้น
ความท้าทายในช่วงแรกที่จัดอีเวนต์เมื่อเทียบกับปัจจุบัน ความยากง่ายที่ต้องเจอ
หลักๆ แล้วความท้าทายที่เราเจอในทุกๆ ปีจะคล้ายๆ กัน คือจะเป็นเรื่องของ Team Management การที่จะมีทีมและทีมสามารถทำได้ในทุกๆ ปี เรื่องของคนที่สับเปลี่ยนหมุนเวียน เรื่องของพาร์ทเนอร์ การหาสปอนเซอร์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และยังมีความท้าทายกับสถานที่ทุกครั้งที่จัดงาน หรืออย่างเรื่องของการ Curate Speakers การจัดอีเวนต์ที่ค่อนข้างออร์แกนิกส์ และความเป็นออร์แกนิกส์นี้เองคือความท้าทายที่เราต้องเจอในทุกๆ รอบที่จัด
ช่วยแชร์ให้เราฟังหน่อยว่ามีพาร์ทไหนที่ชอบเป็นพิเศษตอนจัดงานไหม
แน่นอนว่าเวลาเราทำงานกับวิทยากรกับอาสาสมัคร โดยเฉพาะกับวิทยากรที่ทำงานร่วมกันมาเป็นระยะเวลาหลายเดือน และถึงแม้ในสัปดาห์สุดท้ายอะไรๆ จะยังดูมีความไม่แน่นอนว่าจะออกมาดีได้มากแค่ไหน แต่มันจะมีโมเมนต์ที่เป็น TED Magic ที่อาจไม่ได้เกิดกับทุกคน แต่เกือบ 90% จะมี Performance ที่ดีได้มากขึ้นในวันอีเวนต์จริง ซึ่งทำให้เรารู้สึกปลื้มทุกครั้ง และก็ยังมี TED Moment ต่างๆ ในแต่ละงานที่ทำให้เรารู้สึกประทับใจ ซึ่งผมเชื่อว่าแต่ละ TED จะมี TED Moment ที่ดีและต่างกันไป
ในอีเวนต์ TED ใหญ่ที่เราไปร่วม กติกาของ TED คือ สปีกเกอร์ 95% ต้องอยู่ร่วมงานทั้งสัปดาห์ ทำให้เราได้มีโอกาสเจอเขาหลายรอบ ได้คุยกัน และหลังจากนั้นบางคนก็ยังได้คอนเนกชันกันมาเรื่อยๆ และยิ่งพอเป็นอีเวนต์ใหญ่ที่เป็นงานขนาด 5-7 วัน ด้วยวัฒนธรรมของ TED ที่ต้อง Say Hallo ทุกคน มันแข็งแกร่งมากเลย เป็น Culture ในอีเวนต์ที่ทำให้คนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน และสำหรับผมเองที่เริ่มด้วยการดู TED TALK มาและได้จัดอีเวนต์มาก่อน พอได้ไปร่วม TEDActive ที่เขาจะมีรูปแบบพิเศษของเขาเองที่เน้นเวิร์กช็อปด้วยและก็ดูทอล์กทำให้ได้เห็นว่าทั้ง TED Women, TEDActive, TED Summit เขามีจัดเวิร์กช็อปด้วยนะ ไม่ใช่แค่ทอล์ก ทำให้เราได้เรียนรู้ และสามารถกลับมา mix กับงานของเรา
ในอนาคตอยากให้ Community นี้เป็นยังไงต่อ
ผมคิดว่าถ้าพูดถึงเชียงใหม่ เชียงใหม่ไม่อยากเป็น Slow City นะ เชียงใหม่อยากเป็นเมืองแห่งโอกาส และในอนาคตก็อยากให้ Community นี้เป็นพื้นที่ที่ช่วยสร้างโอกาสให้กับเชียงใหม่และคนที่มาอยู่ที่เชียงใหม่ต่อไปได้
อะไรคือความพิเศษของของ TEDxChiangMai ที่ทำให้แตกต่างจากที่อื่น
(หยุดคิด) ในฐานะที่ผมเป็นคนจัดอีเวนต์ ผมว่า TEDxChiangMai เป็นอีเวนต์ที่มีความ Diversity ของสปีกเกอร์และคนในงานมากที่สุดนะ จะว่ายังไงดี เชียงใหม่มีความ diversity, international & local มากที่สุด พอมา mix กันก็ทำให้เป็นอีเวนต์ที่มีความหลากหลายมาก มีสัดส่วนของคนไทยและชาวต่างชาติที่เป็นสปีกเกอร์ ผู้ร่วมงาน และทีมงานเกือบเท่าๆ กัน
ต่อมาคือความ Variety ของ Topic ด้วยความที่เชียงใหม่มีกลุ่มคนหลายกลุ่มทั้งชาวพื้นเมือง คนที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่อาศัย Expat ที่เป็นชาวต่างชาติ และยังมีกลุ่มที่เป็น Digital normads ที่มาอาศัยในเชียงใหม่ ทำให้เวลาจัดอีเวนต์ Topic บนเวทีจึงมีความหลากหลายมาก
และอีกความพิเศษของ TEDxChiangMai คือในเรื่องของสถานที่ เช่น ถ้าคนจากจังหวัดอื่นต้องการมาร่วมอีเวนต์ของเรา ด้วยความเป็นเชียงใหม่ คนมาฟัง TED จะตั้งใจมาและกว่า 90% จะอยู่ร่วมจนอีเวนต์จบ และในวันถัดไปก็สามารถไปท่องเที่ยวในเชียงใหม่ต่อได้
ยิ่งปีนี้ TEDxChiangMai 2024 เป็นปีที่มีความบาลานซ์มากที่สุด เรามีสปีกเกอร์ฝั่งชาย 6 คน และสปีกเกอร์ฝั่งหญิง 6 คน และยังมีผู้ร่วมงานที่เป็นสัดส่วนระหว่างคนไทยและชาวต่างชาติอยู่ที่ 50:50 เลย
คิดว่า TEDxChiangMai ให้อะไรกับเชียงใหม่บ้าง
เกือบ 13 ปีแล้วที่เราจัด TEDxChiangMai มา จาก Story หรือสิ่งที่เราได้เห็น บทสนทนาที่เริ่มที่ TED แล้วก็มีคนมาช่วยกันทำต่อ ผมว่าเราได้สร้างพื้นที่ให้คนได้มาเจอกันผ่านการร่วมอีเวนต์ การเผยแพร่ไอเดียให้คนได้เข้าใจมากขึ้น หรือการทำเวิร์กช็อปในงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างโอกาสทั้งกับตัวผู้คนที่อยู่ในอีเวนต์และเมืองเชียงใหม่เองด้วย เราพยายามผลักดันโอกาสและอย่างที่บอกไปว่าอยาก contribute ต่อชุมชนและสังคมที่เราอยู่ งาน TED เป็นเหมือนเวทีหรือพื้นที่สร้างโอกาสเหล่านั้น
แล้ว TEDxChiangMai ให้อะไรกับคุณมาร์ตินบ้าง
ขาดทุนครับ (หัวเราะ) ถ้ามองในแง่ของการเป็น Organizer (หัวเราะ)
แต่ถ้ามองว่าเราคือ Social Enterprise ก็เรียกได้ว่าประสบผลสำเร็จพอสมควร
อย่างที่เรารู้กันว่า TED เป็นอีเวนต์ทอล์กที่ไม่แสวงหาผลกำไร ดังนั้นสำหรับผมสิ่งตอบแทนที่ได้มาจะเป็นในมิติของการที่เรามีเพื่อนใหม่มากมายในหลากหลายวงการ และยังเป็นเรื่องของการได้พัฒนา community ผลลัพธ์ที่ได้หลังจัดงาน ฟีดแบคที่ได้จากวิทยากร พาร์ทเนอร์ รวมทั้งอาสาสมัครที่ร่วมงานกันมาในแต่ละอีเวนต์ เป็นมิติที่เราได้เห็นว่าอีเวนต์ทอล์กอย่าง TED เป็นพื้นที่ที่ทำให้อาสาสมัคร พาร์ทเนอร์ สปีกเกอร์ ผู้ร่วมงานได้มาเจอกันและได้ทำอะไรร่วมกันต่อ