ถ้าใครเป็นสายโซเชียลและสายคาเฟ่ นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก Mascot น้องหมีสีน้ำตาลสุดคิวท์จากแบรนด์ขนมหวาน Butterbear หรือ #น้องหมีเนย ที่กลายเป็นไวรัลทั่วทั้งโซเชียลมีเดีย
Mascot น้องหมีเนย Butterbear กลายเป็นไวรัลไปทั่วโลกจากเต้นเพลง K-pop หรือ T-pop แสนเป๊ะ พร้อมด้วยการสวมคาแรคเตอร์สุดน่ารักคว้าใจเหล่าแฟนคลับได้อยู่หมัด จนชาวเน็ตพากันเสพติดน้องหมีเนยกันอย่างพลาดมไ่ได้
ไวรัลน้องหมีเนยกลายเป็นกระแสโด่งดังทั่วทั้งประเทศไทย รวมไปถึงในต่างประเทศอย่างประเทศจีนที่พากันจองตั๋วบินมาถึงประเทศไทยเพียงแค่เพราะอยากมาเจอ Mascot น้องหมีเนยจาก Butterbear
ทำความรู้จัก ‘Butterbear’ หรือ ‘น้องหมีเนย’
Butterbear ก่อตั้งโดยคุณบูม ธนวรรณ วงศ์เจริญรัตน์ ลูกสาวของคุณดาว ณัฐธยาน์ ปางพุฒิพงศ์ เจ้าของร้านอาหาร ‘Coffee Beans By Dao’ ร้านอาหารและเค้กชื่อดังที่มีมาแล้วกว่า 24 ปี โดยแบรนด์ลูกของ Coffee Beans By Dao ไม่ได้มีเพียง Butterbear แต่ยังมี Skinnylicious ขนมคลีนเจ้าดังในโลกออนไลน์อีกด้วย
Butterbear เน้นขายขนมที่เราคุ้นเคยกันในวัยเด็กอย่าง โดนัท คุกกี้ และเค้กรสชาติต่างๆ ที่แฟนด้อมน้องหมีเนยหลายคนก็ต่างชื่นชมในรสชาติที่อร่อยของขนม ไปพร้อมๆ กับชื่นชมความน่ารักของ Mascot ดังกล่าว
เริ่มแรก Butterbear เปิดขายผ่านทางออนไลน์เท่านั้น แต่ปัจจุบันมี Pop-up booth กระจายอยู่หลายสาขาทั้งสยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ สามย่านมิตรทาวน์ และล่าสุดที่เพิ่งเปิดหน้าร้าน Butterbearที่ EMSHPERE เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้หลายช่องทางมากยิ่งขึ้น โดยสาขาที่กลายเป็นไวรัล มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติบินมาต่อคิวรอซื้อขนมกันอยู่บ่อยๆ ก็คือหน้าร้านที่ EMSHPERE นั่นเอง
กลยุทธ์ Mascot ของร้านขนม Butterbear
1. Personality ที่สอดคล้องกับแบรนด์
ถ้าใครติดตาม Butterbear จะเห็นว่าน้องหมีเนยมักจะสวมผ้ากันเปื้อนเพื่อสื่อถึงความชอบการทำขนม รวมถึงการมีบุคลิกที่ร่าเริง อบอุ่น สนุกสนาน เต็มไปด้วยความสดใส และสามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของร้าน Butterbear ที่ตกแต่งร้านอย่างน่ารัก สดใส รวมถึงการมีรูปแบบขนมหวานที่หน้าตาน่าทาน แพคเกจจิ้งที่น่ารักสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายหลักของ Butterbear ที่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน
2. Content is KING
ในยุคที่อะไรๆ ก็กลายเป็นคอนเทนต์ Butterbear สร้างคอนเทนต์ที่สดใหม่ ตามกระแสของสังคมในยุคปัจจุบันจนมีผู้ติดตามช่องทาง Instagram กว่า 1.7 แสนคน ไม่ว่าจะเป็นการตามกระแส Introvert และ Extrovert การเต้นประกอบเพลง K-pop การสวมชุดไทยต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ และการสวมชุดกี่เพ้าต้อนรับตรุษจีนที่สามารถดึงดูดใจให้ผู้ที่รับชมวิดีโออย่างติดตามความน่ารักและคอนเทนต์ตลกๆ ของ Butterbear จนได้รับรางวัลจาก Grab Thumbs Up Awards 2024 สาขาสุดยอดร้านสร้างสรรค์คอนเทนต์แห่งปี
3. ขยันสร้าง Engagement
จากปรากฏการณ์ที่แฟนๆ ชาวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยเพื่อมาหาน้องหมีเนย Butterbear จนกลายเป็นไวรัลไปทั่วโลกออนไลน์ทำให้ Butterbear เปิด Accout ใหม่เพิ่มในชื่อของ “Butterbear黄油小熊” เพื่อสื่อสารกับแฟนๆ ชาวจีนโดยเฉพาะ อีกทั้งยังใช้ Mascot เพื่อเชิญชวนแฟนๆ #ด้อมน้องเนย มาเจอกับ Mascot น้องหมีเนยแบบตัวเป็นๆ ที่หน้าร้านเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์และกลุ่มลูกค้า รวมถึงการออกเพลงใหม่ๆ เช่น It’s Butterbear และ น่ารักมั้ยไม่รู้ ทั้งใน YouTube และ Spotify เพื่อสร้างการจดจำให้กับแบรนด์อีกด้วย มากไปกว่านั้นยังปล่อย MV เพลงออกมา และได้ขึ้นเวที T-POP STAGE อีกด้วย เรียกได้ว่าเหมือนน้องเป็นดาราสาวตัวจริง ยิ่งทำให้แฟนๆ ได้ติดตามชีวิตน้องเนยอย่างสนุกสนานราวกับน้องเป็น Mascot ที่มีชีวิตเลยทีเดียว
Scale’s Takeaways
1. ทำความรู้จักกลุ่มเป้าหมายให้ดี
‘ลูกค้า’ เป็นสิ่งแรกที่ทุกแบรนด์ควรคำนึกถึงในทุกๆ ขั้นตอนและทุกกลยุทธ์การตลาด รวมถึงการสร้าง Mascot เช่นกัน เนื่องจาก Mascot ควรดึงดูดกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับความสนใจและความชอบของกลุ่มเป้าหมายก่อนที่จะเริ่มออกแบบ Mascot เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์และกลุ่มเป้าหมาย นำไปสู่การมีส่วนร่วม ความภักดีต่อแบรนด์ และยอดขายที่เพิ่มขึ้น โดยMascot ที่ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถช่วยสร้างประสบการณ์แบรนด์ที่น่าจดจำได้ เช่น Butterbear ออกแบบ Mascot ที่มีรูปร่างหน้าตาน่ารัก เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน
2. กำหนดคุณค่าของแบรนด์
คุณค่าของแบรนด์คือความเชื่อหลักและหลักการที่กำหนดเอกลักษณ์ วัตถุประสงค์ และพันธกิจของแบรนด์ โดยค่านิยมเหล่านี้แสดงถึงจุดยืนและเป้าหมายที่แบรนด์ต้องการไปถึง ดังนั้น Mascot ควรสอดคล้องกับค่านิยมเหล่านี้เพื่อสะท้อนความหมายและสร้างภาพจำที่ดีให้กับแบรนด์ เช่น Butterbear มีสโลแกนว่า ‘A very buttery welcome to our world’ จึงสร้าง Mascot ที่พวกเราเรียกกันว่าน้องหมีเนยเพื่อตอกย้ำถึงสโลแกนของแบรนด์ รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่าย
3. สร้างจุดขายด้วยวัฒนธรรม
ถ้าลองนึกภาพการที่จะสร้างแบรนด์ให้ไปไกลระดับประเทศ หลายคนอาจจะนึกถึงการที่แบรนด์จะต้องมีความอินเตอร์ สื่อสารกับเหล่าลูกค้าต่างชาติด้วยภาษาอังกฤษ มีสโลแกนที่มีความเป็นสากล และตามเทรนด์โลก แต่จริงๆ แล้วการนำวัฒนธรรมของประเทศเราเป็นจุดขายก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้แบรนด์สามารถสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นไม่เหมือนใครได้เช่นเดียวกับการที่ Butterbear ใส่ชุดไทยกลายเป็นภาพจำของแฟนๆ ต่างชาติ
สรุป
นอกจากขนมแล้ว อีกจุดเด่นของ Butterbear แน่นอนว่าต้องเป็นการใช้กลยุทธ์ Mascot น้องหมีเนยที่ทำเอาแฟนๆ ต่างก็พากันมาชื่นชมความน่ารักถึงที่ จนกลายเป็นแบรนด์ขนมที่มีทั้งแฟนคลับในประเทศไทยและต่างชาติ การนำกลยุทธ์นี้ไปใช้นอกจากจะช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักแล้วยังสามารถสื่อถึงภาพลักษณ์ที่แบรนด์ต้องการให้ลูกค้าจนจำได้ดีอีกด้วย
อ้างอิง
- https://thethaiger.com/thai-life/entertainment/butterbear-thai-mascot-goes-viral-with-k-pop-dance-craze#google_vignette
- https://penji.co/mascot-designs/#:~:text=A%20brand%20mascot%20strategy%20is,values%2C%20personality%2C%20and%20identity.
- https://blog.marketingblatt.com/en/mascot-in-brand-marketing-strategy-strengthen-your-brand-identity-and-personality