หยุด Revenge Bedtime Procrastination สาเหตุที่ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงจากการ “นอนไม่เพียงพอ”

FeatureIMG Revenge Bedtime

“เรานอนดึก เพราะไม่พอใจกับความสุขในวันนี้ของตัวเอง” นี่คือประโยคของ “กิต Three Man Down” จากรายการ “ป๋าเต็ดทอร์ค” ที่ผมชอบมาก เพราะมันได้บ่งชี้ถึงผลเสียที่เกิดจากการนอนดึกได้เป็นอย่างดี

อาการนี้ไม่ใช่การนอนไม่หลับแต่เป็นการเลือกจะไม่นอนที่เรียกว่า Revenge Bedtime Procrastination หรือก็คือการแก้แค้นเวลาที่เสียไปด้วย “เวลานอน” 

วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับสิ่งนี้ทั้ง รูปแบบพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ผลเสียกับร่างกาย ผลเสียของสุขภาพจิต รวมไปถึงวิธีการแก้ปัญหา เพื่อให้เพื่อนๆ ได้มีคุณภาพการนอนที่ดีขึ้นจนส่งผลให้ชีวิตทุกด้านดีขึ้นไปด้วย 

ลองมาอ่านกันได้เลย

พฤติกรรมของ Revenge Bedtime Procrastination 

พฤติกรรมส่วนมากที่พบก็คือ หลังจากผู้คนกลับจากการทำงานด้วยความเหนื่อยล้า แต่พอตกกลางคืนกลับมีความต้องการที่จะทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ดูซีรีส์, ไถโซเชียล ฯลฯ เพื่อชดเชยเวลาที่เสียไปในเวลากลางวันที่ไม่พอใจไม่ว่าจะเป็น รถติด งานด่วน เลิกงานช้า ความสัมพันธ์ที่ไม่ดี เป็นต้น

และเมื่อพวกเขาทำกิจกรรมที่ต้องการไปเรื่อยๆ พอรู้ตัวอีกทีก็เช้าเสียแล้ว ซึ่งก็จะส่งผลเสียทั้งในด้าน สุขภาพร่างกาย หรือแม้แต่ สุขภาพจิตด้วย

โดยพฤติกรรมแบบมีปริมาณเพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่การ WFH นั้นทำให้เวลาในการทำงานและเวลาพักผ่อนอยู่ในช่วงเดียวกันจนส่งผลให้หลายๆ คนเสียการควบคุมการจัดการเวลาไปด้วย

โดยมีการอ้างอิงจากผลการสำรวจของ American Psychological Association ที่ระบุว่า ผู้คน 40% จาก 13 ประเทศ ประสบกับปัญหาการนอนมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาด

ผลเสียที่เกิดขึ้นของการแก้แค้นด้วย “เวลานอน”

ถึงแม้การนำเวลานอนมาชดเชยเวลาที่เสียไปจะทำให้เราบรรลุเป้าหมายบางอย่าง เช่น การดูซีรีส์แบบจัดเต็ม, การดูโซเชียลที่ต้องการ, การต่อพลาสติกโมเดลที่ดองไว้จนเสร็จ ฯลฯ แต่อย่าลืมว่านั้นเป็นช่วงเวลาที่หยิบยืมมาจาก “เวลาพักผ่อน” ซึ่งจะส่งผลเสียกับทั้งร่างกายและจิตใจในภายหลัง

ผลที่เกิดขึ้นก็คือผู้ที่มีอาการ Revenge Bedtime Procrastination มักจะมีอาการ อ่อนเพลียตลอดเวลา, มีสมาธิที่สั้นลง, เริ่มป่วยจากภูมิคุ้มกันที่ลดลง, อารมณ์ไม่คงที่ ฯลฯ 

ยิ่งบางคนมีพฤติกรรมการเล่นโซเชียลผ่านหน้าจอไม่ว่าจะโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ แสงสีฟ้าจากหน้าจอก็มีส่วนอย่างมากที่ทำให้การหลั่ง Melatonin ที่เป็นฮอร์โมนควบคุมการนอนนั้นลดลง จนทำให้กิจวัตรการพักผ่อนเกิดความผิดปกติและส่งผลกระทบอย่างที่ได้กล่าวไป

หากไม่ทำการแก้ไขหรือให้ความสำคัญกับช่วงเวลาในการพักผ่อน ในเคสหนักๆ ก็อาจส่งผลไปจนถึงเรื่องของการทำงานที่มีประสิทธิภาพลดลงและส่งผลไปถึงสุขภาพจิต จนอาจพัฒนากลายเป็น “โรคซึมเศร้า” เลยก็เป็นได้

วิธีแก้ไข Revenge Bedtime Procrastination

ถึงจะบอกว่าวิธีแก้ไขก็คือการหยุดพฤติกรรม Revenge Bedtime Procrastination แต่ด้วยกิจวัตรที่ทำให้ร่างกายและสมองจดจำไปแล้วแบบนี้ก็ใช่ว่าจะแก้ไขกันได้ง่ายๆ แต่ต้องอาศัยทั้งเวลาและความสม่ำเสมอ

1.กำหนดเวลาการนอน-ตื่น ให้เหมือนกันทุกวัน

วิธีนี้คือการที่เพื่อนๆ ต้องกำหนดเวลาการนอนและเวลาตื่นนอนให้เป็นเวลาเดียวในทุกวัน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเวลาที่ตายตัวให้ปรับเวลาให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของเรา แต่ควรนอนให้ครบ 6-8 ชั่วโมง (แม้จะเป็นวันหยุดก็ต้องนอนให้ตรงเวลาที่กำหนด)

2.ห่างขาดจากหน้าจอก่อนนอน 30 นาที ขึ้นไป

30 นาที ก่อนนอนให้จำไว้เลยว่าไม่ควรอยู่กับหน้าจอ ให้หากิจกรรมที่ทำให้เรามีสมาธิอย่างการนั่งสมาธิหรืออ่านหนังสือ ฯลฯ นี่เป็นการหลีกเลี่ยงจากแสงสีฟ้าและความผันผวนของโซเชียลที่ทำให้เราเสียสมาธิซึ่งส่งผลกับการนอนเป็นอย่างมาก (อาจจะยากสักหน่อยแต่ถ้าทำได้จะเห็นผลลัพธ์ชัดเจนมาก)

3.จัดสภาพแวดล้อมในการนอน

สภาพแวดล้อมในการนอนก็เป็นสิ่งสำคัญที่ให้การนอนของเรามีคุณภาพมากขึ้น ห้องนอนควรที่จะมืดสนิทพยายามลดแสงที่อยู่ในห้องให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ปิดเสียงแจ้งเตือนจากอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด 

ส่งเสริมการนอนด้วยเครื่องพ้นอะโรม่าสักหน่อย เปิดเพลงคอลเบาๆ หรือจะเป็นเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงฝน, เสียงลม, เสียงน้ำไหล ฯลฯ ทำให้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ผ่อนคลาย สิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมการนอนได้ดีมาก

พยายามมีความสุขกับชีวิตในตอนกลางวัน

วิธีการนี้สำคัญจนขอแยกมาอีกหัวข้อ ถ้าเจ้าอาการ Revenge Bedtime Procrastination นี้เกิดจากการที่เราไม่พอใจในชีวิตประจำวันจนต้องมาแก้แค้นด้วยเวลาพักผ่อน เราก็แค่หาวิธีทำยังไงก็ได้ให้เราพึงพอใจกับชีวิตประจำวันซะก็หมดเรื่อง

ลองหาหนังสือที่ส่งเสริมเรื่องทัศนคติที่ดีมาอ่าน ปรับอารมณ์ให้ดีในสถานการณ์ที่พบเจอ มองโลกในแง่บวก  ออกกำลังกาย อยู่กับคนที่ทำให้เราสบายใจ ฯลฯ แต่ละคนก็มีวิธีการเข้าถึงความสุขที่แตกต่างกัน หาวิธีคิดที่ทำให้เรามีความสุขง่ายๆ ในแต่ละวันให้พบ แล้วเพื่อนๆ จะพอใจกับวันๆ นั้นจนไม่รู้สึกเสียดายที่จะนอนเลย

Scale’s Takeaways

1.จงให้ความสำคัญกับร่างกาย

ร่างกายคือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งในชีวิต สมองที่ดีนำมาซึ่งความคิดที่ดีทั้งในการทำงานหรือทัศนคติต่อสิ่งต่างๆ แขนขาและส่วนอื่นๆ ก็เป็นเหมือนเครื่องมือที่จะทำสิ่งที่สมองคิดให้เกิดขึ้น

ไม่ว่าเพื่อนๆ จะกำลังพบกับปัญหาอะไรก็ตามในชีวิตแล้วรู้สึกว่าเจอทางตัน ให้ลองหันกลับมาพัฒนาร่างกายโดยที่ไม่ต้องสนใจความคิดฟุ้งซ่านอะไรทั้งนั้น เราเชื่อว่าเพื่อนๆ จะได้พบเจอกับทางออกที่ดีอย่างแน่นอน

2.มีความสุขง่ายๆ ระหว่างวัน

ถ้าเราสามารถปรับทัศนคติที่มีต่อสิ่งเลวร้ายหรืออะไรที่ไม่พึงพอใจในระหว่างวันให้เป็นไปในทาง Positive ได้ อย่างเช่น การขอบคุณ, การให้อภัย, การชื่นชมคนอื่น ฯลฯ 

ถึงอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายที่เราจะปรับความคิดของเรา และเมื่อเรามีความสุขง่ายๆ กับหลายๆ อย่างในแต่ละวันได้ สิ่งนี้ก็จะนำพาเราไปสู่ความพึงพอใจตลอดทั้งวันจนเราสามารถนอนหลับได้อย่างสบายใจและมีคุณภาพ ปัญหาการพักผ่อนน้อยก็จะหายไปร่างกายที่ดีก็จะส่งผลไปถึงทัศนคติที่ดีด้วยเช่นกัน

3.อย่าละเลยสิ่งแวดล้อมรอบตัว

นอกจากการจัดสิ่งแวดล้อมให้การนอนมีประสิทธิภาพแล้ว สภาพแวดล้อมรอบตัวระหว่างวันก็มีส่วนที่ส่งผลกับสภาพอารมณ์ของเราอย่างมากด้วยเช่นกัน

การลงทุนจัดสภาพแวดล้อมให้ตอบสนองต่อประสาทสัมผัสทั้ง 5 ก็ดูจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากๆ เลย รวมไปถึงการเลือกที่จะมีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วยทัศนคติที่ดีก็จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีได้เช่นกัน

สรุป

ถึงแม้ในชีวิตเราต้องเผชิญกับความรับผิดชอบมากมายจนอาจทำให้ไม่พอใจกับชีวิตระหว่างวันมากแค่ไหน แต่อย่าเอา “เวลาพักผ่อน” มาแก้แค้นเพื่อชดเชยเวลาที่เสียไปเลย 

เพราะสุดท้ายแล้ว “เวลาพักผ่อน” นี่แหละที่จะเป็นเพื่อนที่ช่วยฟื้นฟูพลังงานทั้งร่างกายและจิตใจของเราให้สามารถรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดระหว่างวันได้ 

สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีความสุขระหว่างวันด้วยทัศนคติที่ดีเพื่อทำให้เราพึงพอใจกับหนึ่งวันที่เราใช้ชีวิต และมีความสุขกับการนอนหลับสนิทที่ทำให้ชีวิตเรามีคุณภาพที่ดีตามไปด้วยนั่นเอง

อ้างอิง

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ติดตาม scale เพื่อเติมความรู้ดีๆ ใส่สมองก่อนใคร!

เราสัญญาว่าจะเติมแต่ความรู้ดีๆ ใส่สมองของคุณ :)

ติดตามต่อทาง Social Media

นอกจากอีเมลแล้ว คุณยังสามารถติดตามคอนเทนต์ดีๆ ผ่าน Social Media ได้เช่นกัน

เราสัญญาว่าจะเติมแต่ความรู้ดีๆ ใส่สมองของคุณ :)

ติดตามเราทาง Facebook

เราสัญญาว่าจะเติมแต่ความรู้ดีๆ ใส่สมองของคุณ :)

กดปุ่มนี้

Scroll to Top