ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่ทุกคนต้องเรียนรู้เรื่องต่างๆ มากมายเต็มไปหมด คุณก็คงเคยประสบปัญหาเวลาต้องเรียนอะไรยากๆ แล้วนั่งอ่านนั่งดูซ้ำไปซ้ำมายังไงก็ไม่เข้าใจ
แต่ก่อนจะไปดูที่ผลลัพธ์ เราควรถอยกลับมาที่วิธีการเรียนรู้กันก่อน วิธีการเรียนรู้ที่ดีย่อมนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ซึ่งวิธีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับกันมาก เป็นขั้นตอนที่เรียบง่าย 4 ขั้นตอนจาก Richard Feynman นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ที่ปัจจุบันเราเรียกกันว่า Feynman Technique
แก่นของ Feynman Technique คือ “การสอน” Feynman บอกว่าการสอนวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างความเข้าใจ
4 ขั้นตอนของ Feynman Technique
1. เลือกสิ่งที่จะเรียนรู้
ปัจจุบันเราเสพคอนเทนต์กันเยอะเท่ากับหนังสือเป็นเล่มๆ แต่ในบรรดาคอนเทนต์เหล่านั้นก็มีเยอะเลยที่เราก็ดูๆ กันไปเฉยๆ มีประโยชน์ไหมก็ไม่เชิง เป็นการพักผ่อนไหมก็ไม่ใช่ การเรียนรู้ที่มีคุณภาพควรเริ่มต้นด้วยการเลือกให้ดีว่าแล้วเราจะลงทุนเวลาของเรากับเรื่องอะไร
2. ลองสอนเด็กเล็กๆ
Feynman บอกว่าถ้าคุณเจอคนที่อธิบายอะไรไม่รู้เรื่อง ให้เดาไว้ก่อนเลยว่าคนๆ นั้นยังไม่เข้าใจสิ่งที่ตนเองกำลังสอนจริง ๆ แต่เราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ง่ายๆ ด้วยการลองอธิบายความเข้าใจของเราในรูปที่ง่ายที่สุด พื้นฐานที่สุด เข้าใจได้ง่ายที่สุด (และจะเป็นเรื่องดีมาก ถ้าได้ลองอธิบายให้เด็กซักคนฟังจริงๆ) นั่นเพราะคนส่วนใหญ่จะอธิบายไปเฉยๆ ไม่ได้ลองพยายามย่อยให้ง่ายเลยด้วยซ้ำ
3. อุดช่องโหว่
จากนั้นคุณน่าจะเจอสิ่งที่ไม่เข้าใจอยู่เยอะเลยล่ะ ให้พยายามอุดช่องโหว่พวกนั้นให้หมด จะกลับไปเปิดหนังสือ เปิดคอร์สออนไลน์ เข้าฟัง Lecture หรือทำอะไรก็ได้
4. ย่อยให้ง่ายขึ้นอีก
สุดท้ายก็ลองพูดให้อยู่ในรูปที่ง่ายที่สุดอีกรอบ ลองคิดภาพว่าเราเป็นคุณครูที่กำลังสอนอยู่ในชั้นเรียน แล้วเมื่ออธิบายไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่เรากำลังใช้ภาษายากๆ นั่นแปลว่าเราต้องลองกลับไปทบทวนอีกรอบแล้วล่ะ
Scale’s Takeaways
1. การสอนคือวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างความเข้าใจ
อย่าเปิดหนังสือ หรือกรอคลิปวิดีโอที่กำลังเรียนซ้ำไปซ้ำมาโดยไม่มีเป้าหมาย ถ้าเราอยากรู้ว่าตรงไหนที่ตนเองไม่เข้าใจ การลองสอนดูจะทำให้เห็นช่องโหว่ของความเข้าใจได้ชัดเจนมากกว่า
2.ย่อยให้ง่ายให้เป็นนิสัย
ไม่มีใครชอบฟังเรื่องที่ฟังแล้วไม่เข้าใจ ถ้าอยากอธิบายเรื่องยากๆ ทุกครั้งเราควรพยายามทำให้มันง่ายก่อน แล้วเราจะพบว่าหลายครั้งสิ่งที่เรากำลังอธิบายมันไม่ได้ยากเลย แต่เราเองต่างหากที่กำลังทำให้มันยาก
3.เลือกให้ดีว่าจะเรียนอะไร
การเรียนรู้ไม่ใช่แค่การเสพคอนเทนต์ เข้าไปเยอะๆ แต่มันคือการเลือกลงทุนเวลาของตนเองว่าจะใช้ไปกับอะไร
สรุป
และนี่คือ 4 ขั้นตอนของ Feynman Technique เทคนิคการเรียนรู้จากนักฟิสิกส์ระดับรางวัลโนเบล
ครั้งหน้าที่คุณต้องเรียนเรื่องยากๆ อย่าลืมลองใช้เทคนิคนี้ดูนะ
อ้างอิง
- หนังสือ Surely You're Joking, Mr. Feynman!
- https://medium.com/taking-note/learning-from-the-feynman-technique-5373014ad230